วันเสาร์, พฤษภาคม 22, 2553

…ING: ขอแค่มีเธออยู่ใน "ความทรงจำ"


หนังรักจากเกาหลีอีกเรื่อง ที่ได้ยินกิตติศัพท์มาว่าซาบซึ้ง ชวนประทับใจ จึงตั้งความหวังเอาไว้ค่อนข้างมาก และแม้จะไม่ถึงกับผิดหวัง แต่ก็นับว่าหนังไปได้ไม่ถึงอย่างที่คาดไว้

Gang Min-Ah (Lim Su-Jeong) เด็กสาวมัธยมปลายที่เพิ่งย้ายมาอยู่โรงเรียนใหม่ไม่นาน ทำให้ยังไม่มีเพื่อนสนิท เธออาศัยอยู่กับ Mi-Suk (Lee Mi-Suk) แม่ที่ทำเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดี และเป็นทุกอย่างให้เธอแม้แต่การให้เธอเรียกชื่อแทนคำว่าแม่ เหมือนเพื่อนทั่วๆ ไป เพราะทั้งสองต่างมีกันและกันเท่านั้น หลังจากต้องสูญเสียพ่อ/สามี ไป Min-Ah ชื่นชอบการเต้นบัลเลต์ และแอบเก็บความฝันที่จะได้ดูการแสดงของคณะบัลเลต์ชื่อดังในยุโรปไว้ แต่นั่นก็ไม่พ้นสายตาของผู้เป็นแม่ ที่ยินดีที่จะพาเธอไปทันทีที่มีโอกาส เพราะรู้ดีว่าลูกสาวจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว

ไม่นาน Yeong-Jae (Kim Rae-Won) ช่างภาพหนุ่มก็ก้าวเข้ามาในชีวิต เมื่อเขาย้ายมาอยู่อพาร์ทเม้นท์ห้องข้างล่างของสองแม่ลูก Yeong-Jae เริ่มตีสนิทกับ Min-Ah ทั้งที่ดูเหมือนเธอจะไม่ใส่ใจอะไร และเหมือนไม่อยากจะมีความรัก แต่เรื่องเล่าจากเพื่อนในโรงเรียนใหม่ที่เกี่ยวกับชายหนุ่มที่คอยทำหน้าที่โบกรถตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียนก็สร้างความประทับใจ และเป็นเหมือนความคาดหวังที่เธออยากพบเจอความรักในแบบนั้น ซึ่งทีละน้อยที่เธอเริ่มรับรู้ว่า Yeong-Jae คือคนๆนั้น เพียงแต่หลังจากนั้น Min-Ah ก็ได้รับรู้ความลับเกี่ยวกับโรคร้ายที่เธอเป็นอยู่ ซึ่งแม่เก็บเอาไว้คนเดียวโดยบังเอิญ

บทหนังมีการเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกเข้ามาเป็นรายละเอียดปลีกย่อยในหนัง เข้ากับประเด็นหลักที่หนังนำเสนอได้อย่างเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความรักของชายโบกรถบนทางม้าลายหน้าโรงเรียน กับความรักของ Min-Ah กับ Yeong-Jae หรือจะเป็นเต่าน้อยสองตัวที่ Yeong-Jae มอบเป็นของขวัญให้กับ Min-Ah ที่เหมือนเป็นการสะท้อนนัยยะเรื่องการมีชีวิตยืนยาวของเต่า กับชีวิตแสนสั้นของ Min-Ah เป็นต้น

นอกจากนี้ หนังยังให้น้ำหนักของความรักระหว่างแม่-ลูก มากพอๆ กับความรักระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งให้ทั้งผลดีและผลเสียไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือคนดูจะรู้สึกซาบซึ้งกับความรักแบบหลังน้อยลง เพราะหนังแบ่งช่วงเวลาส่วนหนึ่งไปให้ความรักในแบบแรก ซึ่งแน่นอนว่าแลดูยิ่งใหญ่ และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า เมื่อพิจารณาจากการนำเสนอตั้งแต่แรกแล้ว รวมทั้งการแสดงของ Lee Mi-Suk เองก็กินขาดในด้านการเข้าถึงตัวละครแม่ ส่วน Kim Rae-Won กับ Lim Su-Jeong เอง ถึงจะมีเคมีที่เข้ากันได้ดีพอสมควร แต่ดูเหมือนช่วงเวลาที่ตัวละครของทั้งคู่มีร่วมกัน ดูจะน้อยไปนิด การมีอารมณ์ร่วมในตอนท้ายเรื่องจึงออกจะไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว

อย่างไรก็ดี นับว่าหนังมีดีอยู่ในตัว ตามมาตรฐานหนังรักเกาหลีเรื่องหนึ่ง ทั้งงานด้านเทคนิค ตั้งแต่การกำกับภาพ ดนตรีประกอบ ไปจนถึงการแสดง และบทดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และหากไม่คิดอะไรมาก หนังสามารถเรียกน้ำตาจากคนดูที่อ่อนไหวในเรื่องความรักกับการจากลาแบบนี้ได้ไม่ยาก

วันอังคาร, พฤษภาคม 18, 2553

FROST/NIXON: ความพ่ายแพ้ของชายแก่ผู้ทะนงตน


จากเหตุการณ์จริงที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีอันโด่งดัง และประสบความสำเร็จ สู่ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครของตัวเอง โดย Peter Morgan มือเขียนบทที่เคยมีชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก The Queen และกำกับโดย Ron Howard ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind และเมื่อก้าวมาอยู่บนจอเงิน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกัน เมื่อหนังมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 2008 ถึง 5 สาขา ซึ่งล้วนเป็นสาขาหลักทั้งสิ้น ตั้งแต่ ตัดต่อ, บทภาพยนตร์ดัดแปลง, นักแสดงนำชายโดย Frank Langella, ผู้กำกับ และรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

เรื่องราวหลักโฟกัสไปที่เหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของ 2 ตัวละครหลักตามชื่อเรื่อง David Frost (Michael Sheen) พิธีกรรายการทอล์คโชว์ชาวอังกฤษ ที่ต้องการสร้างชื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในวงการทีวีอเมริกัน โดยการพยายามชักจูงให้ Richard Nixon (Frank Langella) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากคดีฉาวอย่างวอเตอร์เกท มาหมาดๆ ฝ่าย Frost ที่มีเพื่อนร่วมทีมวิจัยอย่าง James Reston, Jr. (Sam Rockwell), Bob Zelnick (Oliver Platt) และ John Birt (Matthew Macfadyen) รวมทั้งกำลังใจคนสำคัญอย่าง Caroline Cushing (Rebecca Hall) มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำตัวอดีต ปธน. มาร่วมรายการให้ได้ แม้จะได้รับการปฏิเสธจากเหล่าสปอนเซอร์มากมาย ด้วยไม่คิดว่าพิธีกรรายการทอล์คโชว์เบาสมองอย่างเขา จะสามารถรับมือกับการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญทางการเมืองที่กำลังเป็นที่สนใจทั้งจากสื่อและประชาชนทั่วไปได้ ขณะที่ฝ่าย Nixon ซึ่งมี Jack Brennan (Kevin Bacon) ผู้ช่วยคนสำคัญเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้เปิดปากพูดในสิ่งที่เขาอยากจะให้มีคนฟัง และไม่ต้องเกรงกลัวอิทธพลจากพิธีกรที่แลดูอ่อนหัดอย่าง Frost นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถร้องขอค่าตอบแทนจากการไปออกรายการสัมภาษณ์ครั้งนี้มากกว่าครึ่งล้านดอลล่าร์ แลกกับข้อตกลงที่ไม่น่าจะเป็นพิษภัยต่อการตอบคำถามเกี่ยวกับคดีวอเตอร์เกทที่ Nixon ไม่อยากพูดถึง เพราะในข้อตกลงนั้นระบุว่า จะมีการพูดถึงคดีนี้เพียงแค่ไม่เกิน 15 % เท่านั้น

แต่อย่างที่คงจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ในหมู่ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ หรือผู้ที่เคยดูละครเวทีเรื่องนี้มาก่อน ว่านอกจาก Nixon กับพวกจะคิดผิด จนนำไปสู่การถูกต้อนคำถามจาก Frost จนจำต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่แม้แต่เหล่าอัยการ หรือสื่อต่างๆ ยังไม่สามารถเค้นออกมาจากปากเขาได้มาก่อน ซึ่งหนังสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างน่าิติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และคงต้องยกความดีความชอบให้กับการกำกับชั้นดีของผู้กำกับ ที่สามารถสะกดอารมณ์คนดูให้ติดอยู่กับเรื่องเครียดๆ นี้ได้อย่างเหลือเชื่อ รวมทั้งการแสดงของนักแสดงในเรื่อง ที่ทำหน้าที่ได้อย่างน่าพอใจกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ 2 นักแสดงนำอย่าง Michael Sheen และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Frank Langella เขาสามารถสะท้อนบุคลิกตัวละครของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง Richard Nixon ออกมาได้อย่างถึงแก่น และแทบจะเกินความคาดหมาย เมื่อเขาสามารถทำให้คนดูรู้สึกเห็นอกเห็นใจเขาอย่างแทบไม่น่าเป็นไปได้ แม้ในช่วงสุดท้าย ตัวละครที่เคยแลดูร้ายกาจ และน่ารังเกียจในตอนแรก กลับกลายเป็นเพียงแค่ตาแก่ที่ไร้พิษสงคนหนึ่งเท่านั้น

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 16, 2553

THE LOVELY BONES: ฉันเห็นฆาตกรจากสวรรค์ (ชื่อภาษาไทยจากฉบับนิยายแปล)


นับว่าเป็นงานชิ้นที่น่าผิดหวังมากที่สุดเท่าที่ได้ดูมาเลยก็ว่าได้ สำหรับงานกำกับชิ้นล่าสุดของผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์จากไตรภาค The Lord of the Rings และ King Kong เวอร์ชั่นปี 2005 แม้ว่าในภาพรวม หนังจะไม่ได้ถึงกับย่ำแย่ แต่คงต้องโทษตัวเองด้วย ที่ตั้งความหวังไว้กับหนังเรื่องนี้ไว้ซะสูงลิบลิ่ว และถึงจะรู้อยู่แล้วว่าหนังแทบไม่มีบทบาทใดๆ บนเวทีออสการ์ 2009 ที่ผ่านมา (เข้าชิงเพียงสาขาเดียวคือ สมทบชายยอดเยี่ยม โดย Stanley Tucci) แต่ก็ยังไม่คิดว่าทิศทางของหนังจะออกมาขาดเอกภาพ และไปไม่สุดทางได้ขนาดนี้

หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงเล่าของ Susie Salmon (Saoirse Ronan) เด็กสาววัย 14 ที่พูดถึงชีวิตแสนสุขกับครอบครัวของเธอ ที่ประกอบไปด้วย Jack Salmon (Mark Wahlberg) พ่อที่เป็นนักบัญชี และมีงานอดิเรกคือสร้างโมเดลเรือในขวดแก้ว, Abigail (Rachel Weisz) แม่ และ Lindsey (Rose McIver) กับ Buckley (Christian Thomas Ashdale) น้องสาวและน้องชายตามลำดับ ทุกคนในบ้านต่างสนิทสนมและรักกันดี กระทั่งวันที่เธอถูกฆาตกรรมโดย George Harvey (Stanley Tucci) หนุ่มใหญ่รักสันโดษที่อยู่บ้านหลังสีเขียวใกล้ๆ กัน ตัวเธอเองเมื่อรับรู้ว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นห่วงคนข้างหลัง จึงติดอยู่ในแดนที่ Holly (Nikki Soohoo) เพื่อนใหม่ที่เป็นเหยื่อฆาตกรรมจากฆาตกรคนเดียวกันก่อนหน้าเธอ 2 ปี บอกว่าเป็นแดนกึ่งกลางระหว่างโลก และสวรรค์ Susie เฝ้ามองดูครอบครัวของเธอรับมือกับการสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งพ่อและแม่ของเธอทำได้แตกต่างกันไป ขณะที่แม่ของเธอพยายามทำใจรับ แต่พ่อของเธอกลับพยายามตามหาตัวฆาตกรให้เจอ ทั้งยังให้ Grandma Lynn (Susan Sarandon) ยายของเธอมาอยู่ช่วยดูแลแม่และน้องๆ ของเธอ

หนังเล่าเรื่องราวที่ Susie ต้องเจอในแดนหลังความตาย สลับกับเหตุการณ์ที่คนข้างหลังของเธอต้องเผชิญ โดยไม่ได้โฟกัสไปที่วิธีการรับมือกับการสูญเสียเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมุ่งไปยังประเด็นการตามหาตัวฆาตกร ซึ่งนำไปสู่การเล่าเรื่องในรูปแบบตื่นเต้นระทึกขวัญปนกันไป มองในแง่หนึ่ง มันช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชม และการเอาใจช่วยตัวละครให้ได้รับการแก้แค้นกับตัวฆาตกรที่คนดูรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งหนังทำได้เยี่ยมมากในฉากหนึ่งที่ตัวละคร Lindsey น้องสาวของ Susie บุกเดี่ยวเข้าไปหาหลักฐานในบ้านของฆาตกร แต่ทว่าเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น ดูเหมือนจะทำให้ฉากที่ตื่นเต้น และทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งของเรื่องแทบจะกลายเป็นของไร้ค่า และนำพาให้ความเข้มข้นของเรื่องจมดิ่งลง เมื่อหนังเลือกที่จะหันกลับไปหาแนวทางดราม่าซาบซึ้งสะเทือนใจอีกครั้ง พร้อมกับการกลับมาบ้านของตัวละครอย่างแม่ของเธอ

ส่วนที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งก็คือการแสดง ที่ถึงแม้จะได้ทีมนักแสดงระดับรางวัลออสการ์ หรือเข้าชิงมาร่วมงานกันถึง 4 คน แต่กลับไม่มีคนไหนทำหน้าที่ได้อย่างควรจะเป็นเลย อาจยกเว้นเพียง Saoirse Ronan และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stanley Tucci (ที่ยังไม่เคยเฉียดเวทีออสการ์เลย กระทั่งการได้เข้าชิงครั้งแรกจากบทบาทในเรื่องนี้นี่เอง)

อย่างไรก็ตาม หนังยังคงเลือกจบ และสรุปเรื่องราวด้วยบทเรียนดีๆ ที่อาจดูเป็นการยัดเยียด และจงใจสั่งสอนมากเกินไป แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว หนังก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะงานด้านเทคนิค ที่ยังคงน่าตื่นตาเช่นงานกำกับภาพ เป็นต้น แต่ดนตรีประกอบอาจน่าจดจำเฉพาะบาง Theme แต่นั่นก็ยังดีที่พอจะมีอะไรให้น่าพูดถึงได้บ้าง

AN EDUCATION: มหา'ลัยชีวิต!!


Sometimes an education isn’t by the book.

คือคำโปรยสวยๆ บนใบปิดหนังเรื่องนี้ และ An Education ก็ไม่ได้มีดีเพียงแค่คำโปรยเท่านั้น หนังยังยอดเยี่ยมไล่เรียงมาตั้งแต่ บทภาพยนตร์, การกำกับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงของเหล่านักแสดงแทบทุกคนในเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าที่ต้องนับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอย่างแท้จริงอย่างสาวน้อย Carey Mulligan ที่น่าจะเป็นคนที่คู่ควรมากกว่าใคร ในการเป็นเจ้าของออสการ์นำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2009 ไปครอง

เรื่องราวเล่าถึงชีวิต Jenny (Carey Mulligan) เด็กสาวไฮสคูล วัยย่าง 17 ที่ทั้งฉลาด และหน้าตาน่ารัก เพียงแต่อาจจะถูกกดดันอยู่บ้าง จาก Jack (Alfred Molina) พ่อผู้เข้มงวด และฝากความหวังไว้กับลูกสาวเต็มที่ ในการจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

ทว่าวันหนึ่งเมื่อ David (Peter Sarsgaard) ก้าวเข้ามาในชีวิตของ Jenny ความสุภาพของเขาสามารพซื้อความไว้เนื้อเชื่อใจจาก Jack และ Marjorie (Cara Seymour) แม่ของ Jenny ได้อย่างอยู่หมัด จนเขาสามารถพาเธอไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ซึ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความใฝ่ฝันของเธอทั้งสิ้น ได้แก่การเสพงานศิลปะของฝรั่งเศสที่เธอหลงใหล ทั้งหนัง ดนตรี และแม้แต่การได้เดินทางไปใช้ชีวิตที่ปารีส จนความคิดที่จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยของเธอแทบจะเป็นอะไรที่เธอไม่ใส่ใจอีกต่อไป แม้จะเริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตของ David กับเพื่อนอีก 2 คนของเขาอย่าง Danny (Dominic Cooper) และ Helen (Rosamund Pike) จะมีอะไรแปลกๆ อยู่บ้างก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจเธอให้โอนอ่อนผ่อนตามคำทัดทานของอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอย่าง Mrs. Stubbs (Olivia Williams) และครูใหญ่ (Emma Thompson) ได้ กระทั่ง David เองที่เป็นคนมอบบทเรียนสำคัญให้ชีวิตเธอ

ฉากโดดเด่นที่สุด 2 ฉาก น่าจะเป็นการประทะกันทางคารมและความคิดของเด็กสาวอย่าง Jenny กับอาจารย์สาวทั้ง 2 คนที่ว่ามาในช่วงกลางเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเปิดโอกาสให้ Carey Mulligan ได้แสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และน่าจะเป็นส่วนสำคัญให้เธอคว้ารางวัลยอดเยี่ยมประจำปี จากเวทีนักวิจารณ์ได้มากพอๆ กับ Meryl Streep จาก Julie & Julia เลยทีเดียว ทั้งนี้เธอยังฉายเสน่ห์อย่างเจิดจรัสยากหาใครทัดเทียม สมกับที่ถูกบรรดานักวิจารณ์ยกย่องให้เป็นเหมือน Audrey Hepburn คนใหม่

นักแสดงสมทบคนอื่นๆ ก็น่าชื่นชมไม่แพ้กัน ไล่ตั้งแต่ Alfred Molina ในบทพ่อ, Emma Thompson ในบทครูใหญ่ ที่ค่อนข้างใจแคบ เมื่อดูจากบทสรุปตอนท้ายๆ เรื่อง รวมถึง Peter Sarsgaard ในบท David ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว และ Sally Hawkins ผู้สวมบทภรรยาของเขา ซึ่งแม้จะปรากฎตัวเพียงแค่ฉากเดียว และเป็นเวลาแค่ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ แต่ก็นับว่าส่งผลต่ออารมณ์ของเรื่องราว และช่วงเสริมอารมณ์ทางการแสดงของ Carey Mulligan ได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

บทภาพยนตร์ของ Nick Hornby ก็นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชม เขาสามาารถวางเรื่องราวได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่น่าเชื่อถือ กับพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวในแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วยให้หนังดูน่าติดตาม และน่าเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างหมดใจ นอกจากนี้ หนังยังสอนชีวิตเรื่องการเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืนและคมคาย โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยี่ยดสารถสำคัญดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย นับเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่น่าชื่นชมทั้งในแง่เจตนาและความตั้งใจอย่างไม่ต้องสงสัย

THE BLIND SIDE: ...ด้านที่มืดบอดของการแสดงอันยอดเยี่ยม?!?!? หรอ...


หากไม่บอกว่านี่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริง คงต้องบอกว่านี่อาจสร้างมาจากเทพนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Cinderella อย่างเห็นได้ชัด และถ้าเป็นเรื่องแต่ง บอกได้เลยว่าหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ล้วนแลดูน่าหัวเราะ และค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว

และไม่ต้องแปลกใจหากคุณจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะนั่นคือสิ่งที่หนังเป็นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง คือการเล่าเรื่องตามสูตรสำเร็จตายตัว และที่สำคัญ การแสดงระดับคว้าออสการ์มาครองได้หมาดๆ ของ Sandra Bullock จากเรื่องนี้ ต้องยกให้เป็นหนึ่งในความอัปยศที่สุดของประวัติศาสตร์รางวัลนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

Sandra Bullock รับบทเป็น Leigh Anne Tuohy อเมริกันผิวขาวฐานะค่อนไปทางร่ำรวยที่มีครอบครัวสมบูรณ์แบบ ทั้ง Sean (Tim McGraw) สามีแสนดี และ S.J. (Jae Head) กับ Collins (Lily Collins) ลูกชายกับลูกสาวนิสัยน่ารัก ทั้งหมดล้วนเป็นคนจิตใจงดงามเหมือนเธอ ดังนั้นการที่ Leigh Anne ตัดสินใจพาเด็กหนุ่มแปลกหน้า แถมยังเป็นคนผิวสีอย่าง Michael Oher (Quinton Aaron) ที่ไม่เคยรู้จักมักจี่มาก่อนให้มานอนค้างคืนที่บ้าน เพียงเพราะเขาบอกว่าไม่มีที่ไป จึงไม่ใช่ปัญหา และแม้จะมีความรู้สึกกังวลใจอยู่บ้างในคืนแรก แต่ทั้งหมดนั้นก็หายไปทันที ที่ตื่นเช้ามาแล้วพบว่าเด็กหนุ่มผิวดำร่างยักษ์คนนั้น ยังคงมีท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัว แถมมีระเบียบวินัยอีกต่างหาก เท่านั้น ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ รวมถึงครอบครัวของเธอเอง ก็เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหลักๆ ก็คือ Leigh Anne พยายามผลักดันให้เขาได้พัฒนาความรู้ของเขาด้วยการเรียนหนังสือให้รู้เรื่องมากขึ้น และที่สำคัญคือการสนับสนุนเต็มที่ให้เข้าร่วมเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอล จนโด่งดังเป็นที่ต้องการตัวของมหาวิทยาลัยมากมาย กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นนักกีฬาชื่อดังของอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเปรียบเทียบว่านี่เป็นเหมือน Cinderella Man เสียยิ่งกว่าหนังชื่อเดียวกันนี้เมื่อปี 2005 เสียอีก เพียงแต่บทนางฟ้าของเรื่อง ถูกขับเน้นให้เด่นขึ้นจนเป็นตัวละครหลัก และได้รับรางวัลออสการ์ไปอย่างชวนตะขิดตะขวงใจไปอย่างที่เห็น เพราะถึงแม้จะมองด้วยใจเป็นกลางอย่างถึงที่สุดแล้ว แทบไม่มีแง่มุมไหนเลยที่การแสดงของ Sandra Bullock ในเรื่องนี้จะสามารถเอาชนะการแสดงของเจ้าป้า Meryl Streep ที่เข้าชิงในปีเดียวกันจาก Julie & Julia ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นบทที่มีตัวตนอยู่จริงเช่นกัน และถึงจะเป็นแนวคอมดี้ แต่การแสดงของเจ้าป้า กลับดูมีพลัง และน่าเชื่อถือกว่าอย่างไม่อาจนำมาเทียบได้เสียด้วยซ้ำ นั่นยังไม่นับรวมการแสดงของผู้เข้าชิงรายอื่นอีก ที่ถึงจะยังไม่ได้ดูแบบเต็มๆ แต่แค่ตัวอย่าง ก็ล้วนทำให้คนดูเชื่อในตัวละครเหล่านั้นได้อย่างหมดข้อสงสัยแล้ว

จะว่าไป จะโทษตัว Sandra Bullock คนเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะอันที่จริง บทก็คือหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้การแสดงของเธอสามารถ “เอาออกมา” ได้แค่นี้ และถ้าจะว่ากันตามตรง จะเห็นว่าฝีไม้ลายมือในเรื่องนี้ของเธอนับว่าเหนือกว่าผลงานก่อนหน้านี้ของเธอทุกเรื่องเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ยิ่งพิจารณาว่าถึงระดับคว้ารางวัลออสการ์ (หรือแม้แต่รางวัลจากสถาบันไหนก็ตามมาครอง)

จริงอยู่ที่ตัวหนังโดยรวมพูดถึงกีฬาที่เหมือนเป็นกีฬาประจำชาติของชาวอเมริกัน และส่งเสริมความรักในเพื่อนมนุษย์ โดยปราศจากการแบ่งแยก ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม แต่หนังในแนวทางนี้ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม และไม่เป็นเทพนิยาย ล้วนมีปรากฎให้เห็นมาแล้วมากมาย แม้แต่ Crash ที่คว้าออสการ์หนังยอดเยี่ยมปี 2005 มาครอง นั่นก็ว่าแย่แล้ว (เมื่อเทียบกับหนังที่คู่ควรที่สุดในปีนั้นอย่าง Brokeback Mountain) แต่เมื่อมาเทียบกับ The Blind Side ก็จะเห็นว่า Crash นั่นทิ้งห่างเรื่องนี้ไปแบบไม่เห็นฝุ่น และปราศจากข้อโต้แย้ง นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่หนังเรื่องนี้ไม่สมควรแม้แต่มีชื่อเข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยมอีกหนึ่งสาขา แม้จะเป็นปีที่เปิดโอกาสให้มีผู้เข้าชิงสาขาใหญ่สุดนี้มากถึง 10 เรื่องก็ตาม

SHUTTER ISLAND: Stand Up Thriller by Leonardo DiCaprio


หลังจากโดนเลื่อนฉายมาข้ามปี ตั้งแต่ ต.ค. ปี 2009 จนได้มาฉายจริงในบ้านเรา เมื่อ 6 เม.ย. ที่ผ่านมานี้เอง ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของผู้กำกับออสการ์ Martin Scorsese และนักแสดงคู่บุญคนปัจจุบัน Leonardo DiCaprio ก็ได้โชว์ความยอดเยี่ยมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนดูเสียที

พล็อตเรื่องคร่าวๆ ของเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ Dennis Lehane เจ้าของนิยายดังที่เคยถูกนำมาสร้างเป็นหนังชั้นดีก่อนหน้านี้อย่าง Mystic River (2003) และ Gone Baby Gone (2007) เล่าถึง Teddy Daniels (Leonardo DiCaprio) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามสหรัฐฯ ที่ถูกส่งตัวมายังเกาะชัตเตอร์ (Shutter Island) ที่เป็นชื่อเรื่อง ซึ่งเป็นสถานที่กักกันนักโทษที่มีอาการทางจิต พร้อมด้วยคู่หูคนใหม่ Chuck Aule (Mark Ruffalo) เพื่อสืบเรื่องราวการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของนักโทษหญิงทื่ชื่อ Rachel (Emily Mortimer และ Patricia Clarkson) ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เลย พิจารณาว่านี่เป็นเกาะห่างไกล และมีทางเข้าออกทางเดียวคือท่าเรื่องด้านหน้าเกาะ ทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาอีกด้วย

ทว่าในระหว่างการสอบสวนและขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บนเกาะทั้งหมอที่นำโดย Dr.Cawley (Ben Kingsley) รวมถึงเจ้าที่พัสดี และพยาบาล หรือกระทั่งยาม ทุกคนล้วนให้ความร่วมมือในระดับที่น่าเคลือบแคลงสงสัย จน Teddy กับ Chuck ต้องเดินหน้าหาความจริงกันตามลำพัง โดย Teddy ยังมีปัญหาด้านภาพหลอนของ Doroles (Michelle Williams) ภรรยาที่ตายจากไปด้วยอุบัติเหตุไฟคลอก และการได้พบกับคนไข้รายหนึ่งในวอร์ด C ที่ชื่อ George Noyce (Jackie Earle Haley) ซึ่งทั้งหมดค่อยๆ นำพาให้เขาค้นพบความจริงที่คาดไม่ถึง

ส่วนที่โดดเด่นมากที่สุดในเรื่อง ต้องยกให้กับการแสดงในระดับสุดยอดอีกครั้งของ Leonardo DiCaprio อย่างไม่ต้องสงสัย เขาสามารถสะท้อนบุคลิกของตัวละครที่ติดกับความรุนแรงมาตั้งแต่สมัยเป็นทหารร่วมรบในสงครามนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว มาจนถึงอาการประสาทหลอนเมื่อเป็นไมเกรน และต้องกินยาแอสไพริน กระทั่งการพยายามค้นหาความจริงที่เขาและคนดูต่างพากันเชื่อเขาโดยสนิทใจตั้งแต่แรก และยากมากที่จะเชื่อตามเหตุการณ์ที่พลิกผันในช่วงท้ายเรื่อง ขณะที่นักแสดงสมทบรายอื่น ก็ทำหน้าที่ได้ตามอัตภาพ แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครที่ได้รับบทที่โดดเด่นเทียบเท่าเขาเลยแม้แต่น้อย นั่นทำให้หนังแทบจะกลายเป็นหนังโชว์เดี่ยวด้านการแสดงของ Leo ไปโดยปริยาย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังจะขาดแคลนความสมบูรณ์ในด้านอื่นๆ ไปแต่อย่างใด ตรงกันข้าม งานกำกับของผู้กำกับ Scorsese ยังสามารถควบคุมอารมณ์คนดูได้อย่างอยู่หมัด และหลอกล่อคนดูให้ติดกับกับประเด็นต่างๆ ที่ถูกเล่ามาตั้งแต่ตนได้อย่างชะงัด แม้ระดับความหักมุมของเรื่องอาจยังไม่เท่าเทียมกับ The Sixth Sense และ The Others ก็ตาม โดยเฉพาะงานด้านภาพและโปรดักชั่นดีไซน์ ที่อยู่นะดับมีลุ้นชิงรางวัลปลายปีได้สบายๆ