วันเสาร์, มิถุนายน 05, 2553

WAITING IN THE DARK: สายสัมพันธ์ในความมืดมิด

ผลงานจากผู้กำกับ ที่เคยเขียนบทให้หนังแนวสยองขวัญ ในตระกูลสับๆ ทั้งหลายอย่าง Audition (1999) ที่เคยได้รับคำชมมาแล้ว แต่เมื่อมากำกับเอง เขากลับดูจะถนัดแนวหนังดราม่า เสียมากกว่า รวมทั้งผลงานกำกับลำดับที่ 4 เรื่องนี้ของเขาในปี 2006 ก็เช่นเดียวกัน

หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วนย่อยๆ ที่อันที่จริงคือเรื่องเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่ในส่วนแรกจะเล่าถึงเรื่องราวที่มีตัวละครอย่าง Michiru Honma (Rena Tanaka) เป็นศูนย์กลาง เธอเป็นหญิงสาวตาบอด ที่ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ (Ittoku Kishibe) ก่อนพ่อจะเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน จนต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในบ้านใกล้สถานีรถไฟที่พ่อทิ้งไว้ให้ และเหลือเพียง Kazue (Mao Miyaji) เพื่อนที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่ชั้นประถมเพียงคนเดียวที่แวะเวียนมาเยี่ยมและพาไปซื้อของอย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่สองเป็นชีวิตของ Akihiro Oishi (Bo-lin Chen) หนุ่มลูกครึ่งจีน-ญี่ปุ่น ที่มาใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังที่นี่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีความสุขนัก เนื่องจากเขามักจะมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้าง นั่นรวมถึงเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ชอบเขานัก ทั้งยังชอบเอารัดเอาเปรียบเขาในทุกวิถีทาง โดยเฉพาะ Toshio Matsunaga (Koichi Sato) หนุ่มจอมเจ้าชู้และเป็นหัวโจกของกลุ่ม ทำให้วันหนึ่งเมื่อ Toshio ถูกผลักตกรถไฟที่สถานีใกล้บ้านของ Michiru เขาจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัย และถูกตำรวจตามล่าตัว จนต้องหนีมาหลบอยู่ในบ้านของ Michiru เงียบๆ

ส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย หนังโฟกัสไปที่เรื่องราวของตัวละครหลักทั้ง 2 ที่มาบรรจบกันในบ้านของ Michiru และค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างช้าๆ ท่ามกลางความเงียบงันในบ้าน ทว่าบางอย่างกำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้น พร้อมๆ กับความจริงเกี่ยวกับตัวฆาตกรตัวจริง ที่กำลังจะถูกเปิดเผย เมื่ออีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่าง Harumi Mishima (Haruka Igawa) เพื่อนบ้านสาวที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารอิตาเลี่ยนเข้ามาผูกมิตร หลังจากอ้างว่าเก็บผ้าที่ปลิวไปจากราวของ Michiru ได้มาคืนให้

ต้องยอมรับว่าผู้กำกับและเขียนบท Daisuke Tengan พัฒนาเรื่องราวที่ดูเหมือนเรียบง่าย ออกมาได้อย่างชาญฉลาด ตั้งแต่บทภาพยนตร์ที่ถูกผูกโยง และเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ไปจนถึงการกำกับที่แม้บรรยากาศจะออกมาแบบเรียบเรื่อย ชวนให้คนดูง่วงเหงาหาวนอนได้ง่าย ทว่าไม่มีช่วงไหนเลย ที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายถึงขั้นนั้นได้ ตรงกันข้าม หนังพาคนดูให้ติดตามเรื่องราวไปได้จนจบอย่างกระตือรือร้น ผ่านความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครหลักที่เหมือนจะไม่มีอะไรมากมาย (กว่าทั้ง 2 จะได้เริ่มบทสนทนาแรกกันอย่างเป็นทางการ ก็ปาเข้าไปนาทีที่ 90 กว่าเข้าไปแล้ว) แต่คนดูสามารถรับรู้ได้ถึงความผูกพันที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน โดยไม่ต้องใช้กิริยาอาการใดๆ มากไปกว่าสายตา และความรู้สึก

อาจเป็นเพราะตัวละครทั้ง 2 มีหลายอย่างคล้ายกัน และเมื่อได้มาอยู่ร่วมกัน ต่างก็เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะเจาะ ฟังดูอาจเป็นหนังรักแบบพรหมลิขิตไปสักหน่อย แต่แทบไม่มีช่วงไหนเลยที่หนังพยายามขีดเส้นกำหนดชะตาชีวิตของทั้งคู่ไปในทางนั้น ตรงกันข้าม เมื่อคนสองคนที่เป็นคู่กัน ได้พบเจอและเรียนรู้กันและกันแล้ว เมื่อนั้นเองที่ความสัมพันธ์จะสามารถงอกงาม และผลิบานอย่างเต็มที่อย่างที่มันควรจะเป็น

INVICTUS: การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการ "ให้อภัย" และใช้กีฬา เป็นยาประสานสาัมัคคี


นับเป็นโครงการในฝันเรื่องหนึ่ง ของผู้กำกับ Clint Eastwood ที่จะนำหนังสือเรื่อง Playing the Enemy ของ John Carlin ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงของประธานาธิบดี Nelson Mandela อีกต่อหนึ่ง และชื่อเดิมในการนำมาขึ้นจอก็คือ The Human Factor ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Invictus (ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า “ทรหด” หรือ “ไม่ถูกเอาชนะ”) ก่อนนำออกฉายจริงในเวลาต่อมา

หนังเปิดเรื่องในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 ที่มีการปล่อยตัว Nelson Mandela (Morgan Freeman) หนึ่งในแกนนำที่ผู้ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว โดยรัฐบาลผิวขาวของพรรค National Party ที่ปฏิบัติงานในรัฐสภามายาวนานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ซึ่งสมัยนั้นชาวแอฟริกันผิวดำถูกเอารัดเอาเปรียบ แบ่งแยก และจำกัดสิทธิมากมาย กระทั่งเมื่อรัฐบาลยินยอมมอบสิทธิในการเลือกตั้งให้แก่ชาวผิวดำ และ Mandela ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาจึงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อวัตถุประสงค์หลักที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก คือการรวมชาติ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ตรงคนสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันอย่างมาก คือฝ่ายผิวดำที่โกรธแค้นชาวผิวขาวกับสิ่งที่เป็นมายาวนานก่อนหน้านี้ ถึงขนาดเชียร์ชาติอื่นทุกชาติที่แข่งกับประเทศตนในกีฬารักบี้ ซึ่งมีทีม Springbok ทีมประจำชาติที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว และมีเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นคนผิวดำอยู่ในทีม ส่วนชาวผิวขาวก็มีอาการหวาดระแวงว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นชาวผิวดำแล้วจะถูกแก้แค้นกับสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาก่อน แต่ Mandela ก็เปลี่ยนความคิดของคนทั้งสองฝ่าย เริ่มด้วยการขอให้คณะทำงานในสำนักงานของประธานาธิบดีทีมเดิมซึ่งเป็นคนผิวขาว อยู่ปฏิบัติงานต่อ การให้ทีมผู้รักษาความปลอดภัยผิวดำของตนปฎิบัติหน้าที่ร่วมกับทีมรักษาความปลอดภัยผิวขาว ไปจนถึงการนำกีฬารักบี้ มาเป็นจุดศูนย์กลาง โดยเขาขอให้ชนผิวดำหยุดการล้มล้างทีมเดิม และจะอาศัยทีม Springbok มาเป็นตัวเชื่อมโยงความแตกแยกของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้ความร่วมมือจาก Francois Pienaar (Matt Damon) กัปตันทีมที่เป็นชนผิวขาว ให้ออกทัวร์กับเด็กๆ ผิวดำในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนจะฝึกซ้อมเพื่อพาทีมไปสู่ชัยชนะในการแข่งขัน Rugby World Cup ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี 1995 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยนักของคนรอบข้าง ทั้งเลขา, หัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัย, ประชาชนผิวขาวทั่วไป รวมถึงครอบครัวของ Francois Pienaar และกระทั่งลูกสาวของเขาเองก็เช่นกัน ทว่าคนเหล่านั้นล้วนคิดผิด...และทั้งหมดสามารถรับรู้ได้ถึงความสำเร็จในการสร้างความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่นของคนในชาติได้ จากการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ เมื่อแอฟริกาใต้ สามารถเอาชนะคู่แข่งจากประเทศนิวซีแลนด์ได้ในช่วงเวลาต่อเวลาพิเศษไปอย่างเฉียดฉิว ซึ่งเป็นดั่งคำให้สัมภาษณ์ของ Francois หลังแข่งเสร็จที่ว่า “ผมไม่ได้รับเสียงเชียร์จากคน 60,000 คนในสนาม แต่ได้รับเสียงเชียร์จากคน 43 ล้านคนในประเทศนี้” ก่อนเขาจะก้าวขึ้นรับถ้วยรางวัลจากปธน.Mandela ท่ามกลางเสียงเชียร์รอบสนามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกสีผิว

ต้องยอมรับว่า ผู้กำกับ Clint Eastwood ยังคงรักษาระดับมาตรฐานการกำกับไว้ได้อย่างดี แม้ช่วงครึ่งชั่วโมงแรก อาจจะดูเรียบเฉื่อยไปนิด แต่ก็เป็นไปตามสไตล์งานเดิมๆ ของเขา ช่วงหลังจากนั้นเสียอีก ที่ถึงจะดูน่าติดตาม และสนุกไปได้จนจบ แต่หนังกลับดูแตกต่างไปจากสไตล์ถนัดของเขาไม่น้อย ทั้งงานดนตรีที่ยังมีเพลงประกอบในจังหวะคึกคักเข้ามาบ้างประปราย และการเล่าเรื่องที่ชวนให้ขวัญกำลังใจ (ซึ่งล้วนตรงข้ามกับผลงานในระยะหลังๆ ของเขาทั้งสิ้น ตั้งแต่ Mystic River, Million Dollar Baby, Flags of Our Fathers, Letter of Iwo Jima, Changeling มาจนถึง Gran Torino งานชิ้นก่อนหน้านี้) ทว่า นั่นก็ไม่ใช่ส่วนที่เขาทำได้ไม่ดี ตรงกันข้าม เขากลับสามารถพาเรื่องราวไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ทั้งยังเป็นไปในแบบน่าติดตาม และดึงอารมณ์ร่วมจากคนดูได้เป็นอย่างดีเสียด้วย โดยเฉพาะในฉากท้ายเรื่อง ที่การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ และบทสนทนาเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ต่อจากนั้นของ 2 ตัวละครสำคัญ ช่วยฉุดอารมณ์คนดูให้รู้สึกฮึกเหิม ทั้งยังให้กำลังใจในการใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี

หนังยังต้องขอบคุณการแสดงอีกบทบาทหนึ่งที่น่าชื่นชมของ Morgan Freeman ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ระดับมาสเตอร์พีช แต่ก็นับว่าทำหน้าที่ในการสวมบทบาทเป็นตัวละครที่มีัตัวตนอยู่จริงได้อย่างจับต้องได้ แม้จะขาดแง่มุมอีกด้านหนึ่งไปสักนิด (เพราะบทหนังดูจะตั้งใจ "อวย" ปธน.Nelson Mandela อยู่ในที) จนตัวละครแทบจะดูเป็นพ่อพระก็ตามที ส่วนงานด้านโปรดักชั่นต่างๆ ล้วนอยู่ในระดับมาตรฐาน เพียงแต่ไม่มีอะไรโดดเด่นเพียงพอให้พูดถึงหรือน่าจดจำเป็นพิเศษ นอกเสียจากเพลงประกอบท้ายเรื่องอย่างเพลง Colorblind ของ Overtone ที่นอกจากจะไพเราะแล้ว เนื้อหายังสะท้อนแง่มุมหนึ่งของตัวหนังได้เป็นอย่างดี