วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 28, 2553

เซ็งเป็ด: BORING LOVE...Boring Crews!!!



สร้างจากกระทู้เรื่องเล่าที่ฮอตฮิตมากที่สุดกระทู้หนึ่งในเวปไซต์ pantip จนแทบจะเรียกได้ว่าสร้างกระแสฟีเวอร์ได้ยิ่งกว่า “รักแห่งสยาม” เสียอีก ซึ่งอันที่จริงแล้ว กระทู้ที่ว่านี้เกิดขึ้นก่อนหนังเรื่องดังกล่าวจะเปิดตัวออกฉายด้วยซ้ำ เพียงแต่เมื่อพูดถีงความสำเร็จในรูปแบบของหนัง ช่างแตกต่างกันอย่างลิบลับ ยิ่งกว่าฟ้ากับเหวเสียอีก

หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงเล่าของ เป็ด (ณัฐพล นิลภูมิ) สจ๊วตหนุ่มหน้าตาดีที่กำลังพิมพ์เรื่องของตัวเองลงในกระทู้ของเวปไซต์ pantip.com โดยเรื่องราวพูดถึงช่วงชีวิตที่เขาเคยทำงานเป็นพนักงานคลังสินค้าของสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาได้รูจักกับ อ้อย (อธิวัฒน์ ลำกูล) พนักงานวัยเดียวกันที่ทำงานอยู่ก่อน และแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังจีบเขาอยู่ แม้เขาจะบอกไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตามทีว่าตนไม่ใช่เกย์ และที่สำคัญเขาเพิ่งถูก ไก่ (อินทิรา เกตุวรสุนทร) แฟนสาวบอกเลิกมาหมาดๆ ทว่าไม่นานนัก ไก่ก็กลับมาขอคืนดี และเขาจำเป็นต้องให้เธออาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่ก็ยังใจแข็งให้ระหว่างเขาและเธอเป็นเพียงแค่เพื่อนกัน

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่าง เป็ด และอ้อย ก็ดูเหมือนจะเป็นด้วยดี แต่เป็ดยังคงรักษาระยะห่างไว้ในฐานะเพื่อนสนิท และแม้อ้อยเหมือนจะไม่มีทางเลือก แต่ดูเหมือนเขาจะมอบหัวใจให้เพื่อนสนิทคนนี้ มากกว่านั้นอยู่เสมอ

ส่วนตัวของเป็ด ยิ่งได้รู้จักกันมากขึ้น เขาก็เริ่มมองเห็นแง่มุมชีวิตที่น่าสงสารของอ้อยมากขึ้น ทำให้เขาเปิดใจรับเพื่อนคนนี้มากขึ้นกว่าเดิม และบางครั้งก็เริ่มรู้สึกสับสนว่าความรู้สึกที่เขามีให้อ้อยในตอนนี้ เรียกว่าอะไรกันแน่ เขาตัดสินใจปรึกษาไก่ และเธอเสนอตัวที่จะพิสูจน์ความเป็นเกย์ให้กับทั้งอ้อย และเป็ดเอง แต่ก็ไม่สำเร็จ ก่อนที่เรื่องราวจะไปสรุปจบอย่างราบรื่น หลังจากอ้อยหายตัวไป เมื่อรู้ว่าเป็ดกำลังจะลาออกจากงานเดิมเพื่อไปเป็นสจ๊วต และทำให้ตัวเขารู้สึกเหมือนถูกทิ้งอีกครั้ง แต่แน่นอนว่า เป็ดออกตามหา จนได้เจอกันในที่สุด

ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมไหน ต้องฟันธงอย่างปราศจากข้อโต้แย้ง ว่าหนังที่ถูกสร้างขึ้นนี้ ทำเอานิยายในกระทู้ทางอินเตอร์เนต ที่ถูกยกย่องให้เป็นของ “โคตรคลาสสิค” ในแวดวงนักอ่าน นักท่องเวป ต้อง “เสียของ” อย่างไม่น่าให้อภัย หนังเลือกตัด และเพิ่มเรื่องราวในส่วนที่ถือได้ว่า “คิดผิด” ไปซะทุกอย่าง ทั้งการตัดตัวละครแม่ของเป็ด ออกไปจากบ้าน แล้วเพิ่มความสำคัญของตัวละคร “ไก่” เข้ามาราวกับเป็นบทนำร่วมแต่กลับไม่ส่งผลกระทบใดๆ ในภาพรวม หรือบางครั้งอาจส่งผลแต่เป็นในแง่ที่เลวร้ายต่อตัวละครเพศหญิงนี้เป็นอย่างมาก ทั้งที่ในนิยายจริงๆ แล้วถูกพูดถึงเพียงไม่กี่ครั้ง แต่กลับมีผลกระทบต่อภาพรวมของเรื่องราวได้มากกว่าเป็นไหนๆ ทั้งยังไม่ได้ถูกมองแบบต่ำต้อยด้อยค่าอย่างที่หนังนำเสนออีกด้วย

ภาพรวมด้านการแสดงก็ย่ำแย่พอกัน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งต้องโทษทั้งการแสดงของนักแสดงเอง และผู้กำกับ ที่ไม่สามารถดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อธิวัฒน์ ลำกูล ซึ่งดูจากรูปลักษณ์ภายนอก และการแสดงของเขาในหลายๆ ฉากแล้ว เชื่อว่าคนดูน่าจะชื่นชอบตัวละครนี้ได้ไม่ยาก หากได้รับการดึงเอาความสามารถของเขาออกมาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เขาดูมีเสน่ห์ และพูดจาเป็นธรรมชาติกว่าใครๆ ในเรื่อง (อาจยกเว้นในบางฉาก แต่ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุด) แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่ดี (อันที่จริงถึงขั้นย่ำแย่) ทำให้นี่เป็นการขึ้นจอที่เสียของอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ งานเทคนิคทุกอย่างของหนัง ก็ล้วนเรียกได้ว่า “น่าอาย” การถ่ายภาพ แลดูน่าอนาถยิ่งกว่างานหนังสั้นของเด็กประถม หรือจะเป็นการตัดต่อที่ไม่รู้จะรีบเร่งไปถึงไหน ทำให้คนดูไม่อาจซึมซับอารมณ์ในแต่ละฉากได้เลย รวมทั้งการบันทึกเสียงที่ให้ความดัง-ชัดไม่สม่ำเสมอ หรือดนตรีและเพลงประกอบที่ถึงจะถูกแต่งมาเพื่อหนังโดยเฉพาะ แต่ไม่มีเพลงไหนสื่อถึงความรักของตัวละครหลักได้ชัดเจนเท่าที่ในนิยายเคยบรรยายถึงเพลงเด่นเพลงหนึ่ง อย่าง “When I’m Feeling Blue” ได้เลย

คงเป็นเรื่องน่าเสียดายตั้งแต่ทีแรก ที่ทีมงานผู้สร้าง เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีฝีมือ และบางที อาจยังไม่ถึงเวลาที่นิยายรักคลาสสิคทางอินเตอร์เนตเรื่องนี้ ควรถูกนำมาขึ้นจอ หรือไม่แน่ มันอาจคู่ควรจะถูกบันทึกไว้ให้อยู่เพียงแค่ในหน้าเวปไซต์ หรือในหน้ากระดาษ ที่มีการนำมาตีพิมพ์ และยังคงรักษาระดับความซาบซึ้งสะเทือนใจไว้ได้อย่างเท่าเทียมกับต้นฉบับทุกประการ

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 27, 2553

UP IN THE AIR: อีกแง่มุมของชีวิต ที่ยึดติดแต่กับตััวเอง




ผลงานจากผู้กำกับ Thank You for Smoking และ Juno ที่เคยได้รับการยกย่องจากทั้งนักวิจารณ์ และคนดูทั่วไปมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องหลัง ที่เข้าชิงออสการ์ทั้งหนัง ผู้กำกับ และคว้ารางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จเสียด้วย


โดยส่วนตัวแล้วชื่นชอบผลงานเรื่องแรกของเขาอย่าง Thank You for Smoking มากกว่า Juno อยู่หลายขุม ถึงแม้สไตล์การเล่าเรื่องของผู้กำกับ Jason Reitman จะเป็นแนวเสียดสีเหมือนกัน (เรื่องแรกเสียดสีระบบธุรกิจบุหรี่ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขณะที่เรื่องหลังเสียดสีระบบครอบครัวและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของวัยรุ่นสาวที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร) แต่ผู้เขียนเห็นว่า Thank You for Smoking ดูมีสีสันและมีแง่มุมที่จริงจัง รวมทั้งนำเสนอได้เข้มข้น บวกกับอารมณ์ขันแสบๆ คันๆ ได้มากกว่า Juno หรือคิดอีกที อาจเป็นเพราะ Juno เข้าถึงหัวอกของลูกผู้หญิงมากกว่าก็เป็นได้

มาว่ากันถึงผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Up in the Air ที่กล่าวถึงชีวิตของ Ryan Bingham (George Clooney) หนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ลดจำนวนพนักงาน ซึ่งเดินทางไป “ไล่” พนักงานออกจากตำแหน่งให้กับบริษัทต่างๆ ที่ว่าจ้างเขาผ่านทางบริษัทแม่ นั่นทำให้ชีวิตของ Ryan ใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินมากถึงร่วมๆ 300 วันต่อปี จนเขารู้สึกคุ้นเคย และชื่นชอบชีวิตอิสระแบบนี้มากกว่าการอยู่อพาร์ทเม้นท์ที่เช่าทิ้งไว้ หรือลงหลักปักฐานกับใครสักคน เขาจึงดูเหมือนเป็นเพลย์บอยซึ่งใช้ชีวิตกับสาวๆ ที่ผ่านเข้ามาแบบไม่ผูกมัดอะไร กระทั่งเขาได้พบกับ Alex Goran (Vera Farmiga) สาวสวยวัยเฉียดสี่สิบ ที่เดินทางบ่อยพอๆ กับเขา ทั้งคู่มีสัมพันธ์กันแบบไม่ผูกมัดด้วยความสมัครใจ ก่อนที่ Ryan จะรู้ข่าวว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา เมื่อ Craig Gregory (Jason Bateman) หัวหน้าของเขาเห็นด้วยกับการไล่พนักงานออกผ่านระบบเวปแคมของอินเตอร์เนต ตามความคิดของ Natalie Keener (Anna Kendrick) บัณฑิตสาวจบใหม่ ไฟแรง ที่เสนอว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานได้มากถึง 85% แต่เมื่อ Ryan แย้งว่าเธอยังไม่รู้จักระบบการทำงานนี้ดีพอ Craig จึงให้ Natalie ติดตามไปดูการทำงานจริงของเขาตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างคน 2 วัย 2 แนวคิด ทั้งด้านการทำงาน ความรัก และการใช้ชีวิต ที่ไม่มีอะไรจะถูกต้องเสมอไป หากเรามองมันเพียงด้านเดียว

George Clooney ทำหน้าที่ได้ดี หรืออาจพูดได้ว่า นี่เป็นบทที่เหมาะสมกับเขามากกว่า นั่นทำให้เขาแทบไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่ใช่เขา ก็คงยากจะหาใครมารับหน้าที่นี้ได้ดีไปกว่า ขณะที่ Vera Farmiga ก็เป็นอีกหนึ่งสีสัน และอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ที่คนดูจะได้พบในตอนจบ ที่เชื่อแน่ว่าน้อยคนนักจะเดาเรื่องราวในส่วนนี้ได้ ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่ได้ดี เหมาะแก่การเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก แต่ที่น่าจะโดดเด่น และแจ้งเกิดได้อย่างแท้จริงจากเรื่องนี้ก็คือ Anna Kendrick สาวน้อยวัย 24 ปี ซึ่งโดนเด่นในทุกฉากที่ปรากฎตัว แม้ส่วนใหญ่ต้องประกบกับ George Clooney ก็ตาม เธอทำให้คนดูเห็นถึงความมุ่งมั่น และฉายแววของความเป็นสาวเก่งมากความสามารถ แต่ขณะเดียวกันก็ซ่อนความเปราะบางและอ่อนต่อโลกให้คนดูรู้สึกได้ ซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญของหนัง ที่ต้องการให้ตัวละครของเธอสะท้อนความเป็นคนแข็งๆ และไม่ใส่ใจต่อผู้คนรอบข้างจากตัวละครของ Clooney ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หนังเต็มไปด้วยบทสนทนาคมๆ ในหลายๆ ฉาก และสร้างเสียงหัวเราะไปได้พร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องมีมุขตลกตลาดๆ ที่เล่นกับพวกของเสียอะไรเลย เช่นในฉากแรกๆ ของหนังที่ แอร์โฮสเตสสาวคนหนึ่งถามตัวละครของ Clooney ว่า “Do you want a ‘CAN’ sir?” (ฟังเหมือนกับ ‘Cancer’ = มะเร็ง) จนตัวละครของเขาต้องขอฟังซ้ำ นับเป็นบทพูดย่อยๆ ที่เสียดสีประเด็นการสื่อสารที่อาจชวนให้เข้าใจผิดได้ แม้เพียงเรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงบทในช่วงที่ Ryan Bingham ขึ้นพูดชักจูงผู้ฟังเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยปราศจากข้อผูกมัด ซึงเป็นที่มาให้ Alex ตัวละครของ Vera Farmiga เรียกเขาว่า Mr. Empty Pack (นายเป้เปล่า) ที่เอาเข้าจริงๆ เขาเองกลับหลีกเลี่ยงที่จะเอาของออกจากกระเป๋าเป้ในชีวิตจริงไม่ได้ เมื่อเขาต้องหอบสแตนดี้รูปคู่ของ Julie Bingham (Melanie Lynskey) น้องสาว กับ Jim Miller (Danny McBride) ว่าที่น้องเขย ไปแทบทุกที่ที่เขาเดินทางไปทำงาน เพื่อถ่ายรูปทั้งสองกับฉากหลังที่เป็นสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ กลับไปตามคำขอร้องให้พวกเขาในวันแต่งงาน หรือการแอบย้อนเหน็บแนม Natalie หลังจากเธอโดนแฟนหนุ่มบอกเลิกผ่าน SMS ว่า “นั่นก็เหมือนกับคนที่ถูกไล่ออกผ่านอินเตอร์เนต” เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้ว หนังอาจพบกับตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้เหมือนหนังแนวเดียวกันนี้ทั่วๆ ไป ที่พยายามสอนให้คนเราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น โดยไม่ได้มองแค่ตัวเอง ซึ่งหนังก็ทำท่าว่าจะเป็นไปในทางนั้น เมื่อ Ryan ตัดสินใจเดินออกมาจากการบรรยายหัวข้อที่เขาถนัด และเชื่อมั่นอย่างนั้นมาตลอด เพื่อไปหาคนที่เขาคิดว่าอยากใช้ชีวิตด้วย แม้เรื่องราวจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แต่เขาก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในมุมมองใหม่ เลือกที่จะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เขาไม่เคยใส่ใจมาตลอดอย่างเช่นการโอนไมล์สะสมทางเครื่องบินให้น้องสาวกับน้องเขย ได้ไปเที่ยวในที่ที่ไม่มีโอกาสได้ไป อย่างที่เคยฝันไว้ และ Natalie ที่ตัดสินใจลาออก หลังจากได้รู้ข่าวร้ายเกี่ยวกับพนักงานคนหนึ่งที่เธอเคยไล่ออก ซึ่งเขาเองที่เป็นคนบอกให้เธอไม่ต้องใส่ใจ นี่อาจเป็นเหมือนบาดแผลเล็กๆ ที่ทำให้ Ryan อยากจะแก้ไขบางอย่าง เขาจึงเลือกที่จะทำในสิ่งตรงข้ามกับที่เขาเคยทำมาตลอด ซึ่งเหมือนเป็นการเริ่มต้นให้โอกาสตัวเองในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่รู้จักให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตที่ไม่ได้มองเห็นตัวเองแต่เพียงผู้เดียว

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 13, 2553

(500) DAYS OF SUMMER: คนที่ใช่...ของใครแ่ต่ละคน

น่าเสียดายเป็นที่สุด ที่บทหนังระดับยอดเยี่ยมเรื่องนี้ พลาดการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมไปอย่างน่าเสียดาย เพราะนับตั้งแต่หนังรัก ระดับขึ้นหิ้งอย่าง When Harry Met Sally…(1989), Before Sunrise (1995) และ Before Sunset (2004) แล้ว ต้องนับว่านี่เป็นงานชิ้นใหม่ ที่รอคิวขึ้นแท่นหนังคลาสสิกในแนวเดียวกันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย... ถึงแม้จะมีการออกตัวไว้ทั้งในโปสเตอร์ และบทบรรยายในฉากเปิดเรื่องก็ตามที ว่า “นี่ไม่ใช่หนังรัก!...”

เรื่องราวง่ายๆ และธรรมดาสามัญของหนังก็มีอยู่แค่ว่า Tom Hansen (Joseph Gordon-Levitt) หนุ่มออฟฟิศตำแหน่งผู้เขียนคำอวยพรในการ์ดต่างๆ ได้พบและรู้จักกับ Summer Finn (Zooey Deschanel) พนักงานสาว ผู้ช่วยคนใหม่ของหัวหน้างานในออฟฟิศเดียวกัน ทั้งคู่ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้เงื่อนไขที่หญิงสาวตั้งไว้ว่า เธอไม่อยากมีแฟน และต้องการให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นไปในแบบเพื่อน...

ทว่าดูเหมือนนิยามของความเป็นเพื่อนระหว่างคนสองคนนี้จะแตกต่างกัน เพราะในแต่ละวัน ทั้งคู่ต่างไปไหนมาไหนด้วยกัน อยู่ด้วยกัน มี Sex กัน และทำทุกอย่างซึ่งชวนให้ Tom หรือไม่ว่าใครก็ตามคิดว่า นี่คือสิ่งที่คนเป็นแฟนกันเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่ Summer กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเธอไม่เคยเชื่อในเรื่องคู่แท้ หรือคนที่ใช่ ตรงข้ามกับเขา ที่เชื่อเสมอว่าเขามีชีวิตอยู่เพื่อใครคนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่จริง และ Summer ก็คือคนนั้นสำหรับเขา

หนังโดดเด่นที่บทภาพยนตร์ ซึ่งสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ราวกับเป็นชีวิตของคนจริงๆ ที่เราพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแทบทุกตัว ที่แทบมองไม่เห็นการจงใจประดิษฐ์คำพูดสวยๆ ยัดใส่ปากตัวละคร นอกจากนี้หนังยังมีดีที่สองผู้แสดงนำ ซึ่งมีเคมีที่เข้ากันได้อย่างดีเยี่ยม ระดับเดียวกับ Tom Hank & Meg Ryan (Sleepless in Seattle, You’ve Got Mail) และ Ethan Hawke & Julie Delpy (Before Sunrise, Before Sunset) เลยทีเดียว

Joseph Gordon-Levitt เหมาะอย่างยิ่งกับบทชายหนุ่มธรรมดา ที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่ความเป็นคนซื่อและจริงใจ ก็ทำให้เขาดูมีเสน่ห์ในตัว นั่นรวมถึงความเป็นคนเชื่อมั่นในรักแท้ ซึ่งนับเป็นบุคลิกของผู้ชายในแบบที่เรียกได้ว่า "ชายหนุ่มในอุดมคติ" ทว่ากลับเข้ากันได้ดีกับตัวตนที่เขาเป็น ขณะที่ Zooey Deschanel นั้นเรียกได้ว่าเธอเปล่งประกายยิ่งกว่าผลงานเรื่องไหนๆ ที่เคยแสดงมา ความน่ารักของเธอ บวกกับเสน่ห์แบบแปลกๆ ที่เธอสร้างสรรค์ไว้ให้กับตัวละคร ทำให้ Summer เข้าไปอยู่ในใจของชายหนุ่มได้ตั้งแต่แรกพบ และแม้ไม่ใช่ผู้หญิงในแบบที่เรียกได้ว่า "นางในฝัน" แต่เธอทำให้เชื่อได้ว่า ผู้หญิงแบบนี้แหละ ที่ชายหนุ่มหลายคนอยากอยู่ใกล้ๆ เธอมอบมีชีวิตชีวาให้กับตัวละคร และแสดงออกมาทั้งส่วนที่ดีจนชวนให้หลงรัก และส่วนร้ายๆ ที่ชวนให้คนซึ่งคิดจะมีเธอเป็นคู่ชีวิตต้องหวนคิดทบทวนดูอีกสักครั้ง ว่าใช่ผู้หญิงคนนี้แน่หรือ คือคนที่ใช่ หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อเธอคือคนที่ใช่สำหรับเขาแล้ว ตัวเธอเองคิดว่าเขาเป็นคนที่ใช่สำหรับเธอด้วยหรือไม่

หนังตอบโจทย์สำคัญให้กับประเด็นนี้ในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างชัดเจน เมื่อวันที่เธอเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ที่เคยยืนยันไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่าเธอและเขามีทัศนคติเกี่ยวกับความรักที่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะเธอได้พบคนที่ “ใช่” สำหรับเธออย่างแท้จริง และเมื่อถึงเวลานั้น เงื่อนไขใดๆ ที่เธอเคยตั้งไว้ ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

ผู้กำกับ Marc Webb และผู้ตัดต่อ Alan Edward Bell คิดถูกที่เลือกวิธีการเล่าเรื่อง แบบไม่เรียงลำดับเวลา เพราะนั่นเป็นวิธีการที่รับใช้เรื่องราวอย่างได้ผล และสื่อถึงประเด็นเกี่ยวกับความรัก และการเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา รวมถึงสถานการณ์แวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดได้แก่ เหตุการณ์ในช่วงวันแรกๆ ที่ Tom บอกกับเพื่อนๆ ว่า เขาตกหลุมรัก Summer ที่ตรงไหน กับตอนวันในช่วงท้ายๆ ที่เขาบอกเพื่อนๆ (กลุ่มเดิม) อีกเช่นกัน ว่าสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ที่ทำให้เขาเกลียดเธอ ซึ่งทุกอย่างที่เขาว่ามา ล้วนเป็นอย่างเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หนังยังคงมองโลกในแง่ดีอยู่บ้าง ด้วยการเลือกจบลงที่ฉากสุดท้าย เมื่อ Tom รอสัมภาษณ์งานใหม่ และได้พบกับใครอีกคน ราวกับจะเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในชีวิต ทั้งในหน้าที่การงาน และเรื่องของความรัก ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกันว่า "คนที่ใช่" ของเขา อาจกำลังรอให้เขาออกไปตามหา เพื่อจะได้พบเจอกันใน “ฤดูกาล” หน้าของความรัก...ก็เป็นได้

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 09, 2553

The 5th SPIDEY THAI FILM AWARD: 2008

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • กอด: Handle Me with Care
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • สะบายดี หลวงพะบาง
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • Wonderful Town

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

  • เกียรติ กิจเจริญ (ดรีมทีม: Dream Team)
  • เกียรติกมล ล่าทา (กอด: Handle Me with Care)
  • ธนเวทย์ ศิริวัฒน์ธนกุล (แปดวัน แปลกคน: The 8th Day)
  • ศุภสิทธิ์ แก่นเสน (Wonderful Town)
  • อนันดา เอเวอริ่งแฮม (สะบายดี หลวงพะบาง)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

  • คำลี่ พิลาวง (สะบายดี หลวงพะบาง)
  • ฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ (Happy Birthday)
  • วาสนา ชลากร (แปดวัน แปลกคน: The 8th Day)
  • ศุภักษร ไชยมงคล (กอด: Handle Me with Care)
  • อัญชลี สายสุนทร (Wonderful Town)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

  • ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย (รักสยามเท่าฟ้า: First Flight)
  • ดล แย้มบุญยิ่ง (Wonderful Town)
  • สรพงษ์ ชาตรี (องค์บาก 2: Ong Bak 2)
  • อรุณ ภาวิไล (อรหันต์ซัมเมอร์: Orahun Summer)
  • อัมรินทร์ นิติพน (ดรีมทีม: Dream Team)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

  • เจนนิษฐ์ โอ๋ประเสริฐ (แปดวัน แปลกคน: The 8th Day)
  • เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ (สี่แพร่ง: Phobia)
  • เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ (สะใภ้บรื๋อ..อ..อ: Ghost In-Law)
  • โฟกัส จีระกุล (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น)
  • มณีรัตน์ คำอ้วน (สี่แพร่ง: Phobia)

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

  • คงเดช จาตุรันต์รัศมี (กอด: Handle Me with Care)

  • ฉัตรชัย ยอดเศรณี (แปดวัน แปลกคน: The 8th Day)

  • ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น)

  • อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล (แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century)

  • อาทิตย์ อัสสรัตน์ (Wonderful Town)

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • กอด: Handle Me with Care
  • ดรีมทีม: Dream Team
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • Wonderful Town

กำกับภาพยอดเยี่ยม

  • กอด: Handle Me with Care
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • สะบายดี หลวงพะบาง
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • Wonderful Town

ลำดับภาพยอดเยี่ยม

  • กอด: Handle Me with Care
  • ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • Wonderful Town

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

  • ปืนใหญ่ จอมสลัด
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • องค์บาก 2: Ong Bak 2
  • Wonderful Town

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

  • ปืนใหญ่ จอมสลัด
  • แปดวัน แปลกคน: The 8th Day
  • สะบายดี หลวงพะบาง
  • แสงศตวรรษ: Syndromes and a Century
  • Wonderful Town

เพลงประกอบยอดเยี่ยม

  • จะได้เจออีกไหม (เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน: Friendship)
  • จับมือฉัน (กอด: Handle Me with Care)
  • ฝัน หวาน อาย จูบ (ฝัน หวาน อาย จูบ: 4 Romances)
  • รักสยามเท่าฟ้า (รักสยามเท่าฟ้า: First Flight)
  • อย่างน้อย (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น)

The 4th SPIDEY THAI FILM AWARD: 2007


ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • ไชยา
  • บอดี้ ศพ#19
  • พลอย
  • เมล์นรก หมวยยกล้อ
  • รักแห่งสยาม

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

  • พิง ลำพระเพลิง (คนหิ้วหัว)
  • วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงศ์กุล (รักแห่งสยาม)
  • มาริโอ้ เมาเรอร์ (รักแห่งสยาม)
  • สมภพ เบญจาธิกุล (ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช: องค์ประกันหงสา)
  • อัครา อมาตยกุล (ไชยา)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

  • ฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ (Me, Myself: ขอให้รักจงเจริญ)
  • มาช่า วัฒนพานิช (แฝด)
  • ลลิตา ศศิประภา (พลอย)
  • สินจัย เปล่งพานิช (รักแห่งสยาม)
  • สุวัจนี ไชยมุสิก (ยังไงก็รัก)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

  • เกียรติ กิจเจริญ (เมล์นรก หมวยยกล้อ)
  • ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี (รักแห่งสยาม)
  • สนธยา ชิตมณี (ไชยา)
  • สรพงษ์ ชาตรี (ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช: องค์ประกันหงสา)
  • สุเทพ โพธิ์งาม (เมล์นรก หมวยยกล้อ)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

  • กัญญา รัตนเพชร์ (รักแห่งสยาม)
  • เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ (รักแห่งสยาม)
  • เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ (เมล์นรก หมวยยกล้อ)
  • ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (บอดี้ ศพ#19)
  • อภิญญา สกุลเจริญสุข (พลอย)

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

  • ก้องเกียรติ โขมศิริ (ไชยา)
  • กิตติกร เลียวศิริกุล (เมล์นรก หมวยยกล้อ)
  • ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (รักแห่งสยาม)
  • เป็นเอก รัตนเรือง (พลอย)
  • โสรยา นาคะสุวรรณ (Final Score: 365 วัน ตามติด ชีวิตเด็กเอนท์)

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • ไชยา
  • บอดี้ ศพ#19
  • พลอย
  • เมล์นรก หมวยยกล้อ
  • รักแห่งสยาม

กำกับภาพยอดเยี่ยม

  • ไชยา
  • พลอย
  • เมล์นรก หมวยยกล้อ
  • รักแห่งสยาม
  • โรงงานอารมณ์

ลำดับภาพยอดเยี่ยม

  • คนหิ้วหัว
  • ไชยา
  • เมล์นรก หมวยยกล้อ
  • พลอย
  • รักแห่งสยาม

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

  • ไชยา
  • ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช: องค์ประกันหงสา
  • บอดี้ ศพ#19
  • พลอย
  • รักแห่งสยาม

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

  • ไชยา
  • ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช: องค์ประกันหงสา
  • บอดี้ ศพ#19
  • แฝด
  • รักแห่งสยาม

เพลงประกอบยอดเยี่ยม

  • กันและกัน (รักแห่งสยาม)
  • คืนอันเป็นนิรันดร์ (รักแห่งสยาม)
  • ยังไงก็รัก (ยังไงก็รัก)
  • รู้สึกบ้างไหม (รักแห่งสยาม)
  • วัน เดือน ปี (Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์)

The 3rd SPIDEY THAI FILM AWARD: 2006

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • 13 เกมสยอง
  • ก้านกล้วย
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

  • กฤษดา สุโกศล แคลปป์ (13 เกมสยอง)
  • ชาลี ไตรรัตน์ (เด็กหอ)
  • ทาดาโนบุ อาซาโน่ (Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร)
  • วิทวัส สิงห์ลำพอง (Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย)
  • อัมรินทร์ นิติพน (มากับพระ)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

  • ชุติมา ทีปะนาถ (Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย)
  • ณัฐฐาวีรานุช ทองมี (แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า)
  • รุ้งลาวรรณ โทณะหงสา (หนูหิ่น เดอะมูฟวี่)
  • วิสา สารสาส (โคตรรักเอ็งเลย)
  • ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (เปนชู้กับผี)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

  • เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง (เก๋า..เก๋า)
  • จุมพล ทองตัน (Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย)
  • เจริญพร อ่อนละม้าย (แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า)
  • ทูน หิรัญทรัพย์ (Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร)
  • ศิรชัช เจียรถาวร (เด็กหอ)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

  • จินตหรา สุขพัฒน์ (เด็กหอ)
  • ปภาวดี โพธิ์งาม (หมากเตะ รีเทิร์นส์)
  • สุพรทิพย์ ช่วงรังษี (เปนชู้กับผี)
  • อชิตะ สิกขมานา (13 เกมสยอง)
  • อรปรียา หุ่นศาสตร์ (แก๊งชะนีกับอีแอบ)

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

  • ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (13 เกมสยอง)
  • ทรงยศ สุขมากอนันต์ (เด็กหอ)
  • นิธิวัฒน์ ธราธรณ์ (Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย)
  • เป็นเอก (Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร)
  • วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เปนชู้กับผี)

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

  • 13 เกมสยอง
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร
  • Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

กำกับภาพยอดเยี่ยม

  • 13 เกมสยอง
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร
  • Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ลำดับภาพยอดเยี่ยม

  • 13 เกมสยอง
  • โคตรรักเอ็งเลย
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

  • ก้านกล้วย
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

  • ก้านกล้วย
  • เด็กหอ
  • เปนชู้กับผี
  • Invisible Waves: คำพิพากษาของมหาสมุทร
  • Seasons Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

เพลงประกอบยอดเยี่ยม

  • เขียนถึงคนบนฟ้า (โคตรรักเอ็งเลย)
  • ผู้จัดการบ้าน (หนูหิ่น เดอะ มูวี่)
  • สิ้นรักสิ้นสุข (เปนชู้กับผี)