วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 27, 2553

UP IN THE AIR: อีกแง่มุมของชีวิต ที่ยึดติดแต่กับตััวเอง




ผลงานจากผู้กำกับ Thank You for Smoking และ Juno ที่เคยได้รับการยกย่องจากทั้งนักวิจารณ์ และคนดูทั่วไปมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องหลัง ที่เข้าชิงออสการ์ทั้งหนัง ผู้กำกับ และคว้ารางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จเสียด้วย


โดยส่วนตัวแล้วชื่นชอบผลงานเรื่องแรกของเขาอย่าง Thank You for Smoking มากกว่า Juno อยู่หลายขุม ถึงแม้สไตล์การเล่าเรื่องของผู้กำกับ Jason Reitman จะเป็นแนวเสียดสีเหมือนกัน (เรื่องแรกเสียดสีระบบธุรกิจบุหรี่ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขณะที่เรื่องหลังเสียดสีระบบครอบครัวและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของวัยรุ่นสาวที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร) แต่ผู้เขียนเห็นว่า Thank You for Smoking ดูมีสีสันและมีแง่มุมที่จริงจัง รวมทั้งนำเสนอได้เข้มข้น บวกกับอารมณ์ขันแสบๆ คันๆ ได้มากกว่า Juno หรือคิดอีกที อาจเป็นเพราะ Juno เข้าถึงหัวอกของลูกผู้หญิงมากกว่าก็เป็นได้

มาว่ากันถึงผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Up in the Air ที่กล่าวถึงชีวิตของ Ryan Bingham (George Clooney) หนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ลดจำนวนพนักงาน ซึ่งเดินทางไป “ไล่” พนักงานออกจากตำแหน่งให้กับบริษัทต่างๆ ที่ว่าจ้างเขาผ่านทางบริษัทแม่ นั่นทำให้ชีวิตของ Ryan ใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินมากถึงร่วมๆ 300 วันต่อปี จนเขารู้สึกคุ้นเคย และชื่นชอบชีวิตอิสระแบบนี้มากกว่าการอยู่อพาร์ทเม้นท์ที่เช่าทิ้งไว้ หรือลงหลักปักฐานกับใครสักคน เขาจึงดูเหมือนเป็นเพลย์บอยซึ่งใช้ชีวิตกับสาวๆ ที่ผ่านเข้ามาแบบไม่ผูกมัดอะไร กระทั่งเขาได้พบกับ Alex Goran (Vera Farmiga) สาวสวยวัยเฉียดสี่สิบ ที่เดินทางบ่อยพอๆ กับเขา ทั้งคู่มีสัมพันธ์กันแบบไม่ผูกมัดด้วยความสมัครใจ ก่อนที่ Ryan จะรู้ข่าวว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา เมื่อ Craig Gregory (Jason Bateman) หัวหน้าของเขาเห็นด้วยกับการไล่พนักงานออกผ่านระบบเวปแคมของอินเตอร์เนต ตามความคิดของ Natalie Keener (Anna Kendrick) บัณฑิตสาวจบใหม่ ไฟแรง ที่เสนอว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานได้มากถึง 85% แต่เมื่อ Ryan แย้งว่าเธอยังไม่รู้จักระบบการทำงานนี้ดีพอ Craig จึงให้ Natalie ติดตามไปดูการทำงานจริงของเขาตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างคน 2 วัย 2 แนวคิด ทั้งด้านการทำงาน ความรัก และการใช้ชีวิต ที่ไม่มีอะไรจะถูกต้องเสมอไป หากเรามองมันเพียงด้านเดียว

George Clooney ทำหน้าที่ได้ดี หรืออาจพูดได้ว่า นี่เป็นบทที่เหมาะสมกับเขามากกว่า นั่นทำให้เขาแทบไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่ใช่เขา ก็คงยากจะหาใครมารับหน้าที่นี้ได้ดีไปกว่า ขณะที่ Vera Farmiga ก็เป็นอีกหนึ่งสีสัน และอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ที่คนดูจะได้พบในตอนจบ ที่เชื่อแน่ว่าน้อยคนนักจะเดาเรื่องราวในส่วนนี้ได้ ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่ได้ดี เหมาะแก่การเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก แต่ที่น่าจะโดดเด่น และแจ้งเกิดได้อย่างแท้จริงจากเรื่องนี้ก็คือ Anna Kendrick สาวน้อยวัย 24 ปี ซึ่งโดนเด่นในทุกฉากที่ปรากฎตัว แม้ส่วนใหญ่ต้องประกบกับ George Clooney ก็ตาม เธอทำให้คนดูเห็นถึงความมุ่งมั่น และฉายแววของความเป็นสาวเก่งมากความสามารถ แต่ขณะเดียวกันก็ซ่อนความเปราะบางและอ่อนต่อโลกให้คนดูรู้สึกได้ ซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญของหนัง ที่ต้องการให้ตัวละครของเธอสะท้อนความเป็นคนแข็งๆ และไม่ใส่ใจต่อผู้คนรอบข้างจากตัวละครของ Clooney ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หนังเต็มไปด้วยบทสนทนาคมๆ ในหลายๆ ฉาก และสร้างเสียงหัวเราะไปได้พร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องมีมุขตลกตลาดๆ ที่เล่นกับพวกของเสียอะไรเลย เช่นในฉากแรกๆ ของหนังที่ แอร์โฮสเตสสาวคนหนึ่งถามตัวละครของ Clooney ว่า “Do you want a ‘CAN’ sir?” (ฟังเหมือนกับ ‘Cancer’ = มะเร็ง) จนตัวละครของเขาต้องขอฟังซ้ำ นับเป็นบทพูดย่อยๆ ที่เสียดสีประเด็นการสื่อสารที่อาจชวนให้เข้าใจผิดได้ แม้เพียงเรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงบทในช่วงที่ Ryan Bingham ขึ้นพูดชักจูงผู้ฟังเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยปราศจากข้อผูกมัด ซึงเป็นที่มาให้ Alex ตัวละครของ Vera Farmiga เรียกเขาว่า Mr. Empty Pack (นายเป้เปล่า) ที่เอาเข้าจริงๆ เขาเองกลับหลีกเลี่ยงที่จะเอาของออกจากกระเป๋าเป้ในชีวิตจริงไม่ได้ เมื่อเขาต้องหอบสแตนดี้รูปคู่ของ Julie Bingham (Melanie Lynskey) น้องสาว กับ Jim Miller (Danny McBride) ว่าที่น้องเขย ไปแทบทุกที่ที่เขาเดินทางไปทำงาน เพื่อถ่ายรูปทั้งสองกับฉากหลังที่เป็นสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ กลับไปตามคำขอร้องให้พวกเขาในวันแต่งงาน หรือการแอบย้อนเหน็บแนม Natalie หลังจากเธอโดนแฟนหนุ่มบอกเลิกผ่าน SMS ว่า “นั่นก็เหมือนกับคนที่ถูกไล่ออกผ่านอินเตอร์เนต” เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้ว หนังอาจพบกับตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้เหมือนหนังแนวเดียวกันนี้ทั่วๆ ไป ที่พยายามสอนให้คนเราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น โดยไม่ได้มองแค่ตัวเอง ซึ่งหนังก็ทำท่าว่าจะเป็นไปในทางนั้น เมื่อ Ryan ตัดสินใจเดินออกมาจากการบรรยายหัวข้อที่เขาถนัด และเชื่อมั่นอย่างนั้นมาตลอด เพื่อไปหาคนที่เขาคิดว่าอยากใช้ชีวิตด้วย แม้เรื่องราวจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แต่เขาก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในมุมมองใหม่ เลือกที่จะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เขาไม่เคยใส่ใจมาตลอดอย่างเช่นการโอนไมล์สะสมทางเครื่องบินให้น้องสาวกับน้องเขย ได้ไปเที่ยวในที่ที่ไม่มีโอกาสได้ไป อย่างที่เคยฝันไว้ และ Natalie ที่ตัดสินใจลาออก หลังจากได้รู้ข่าวร้ายเกี่ยวกับพนักงานคนหนึ่งที่เธอเคยไล่ออก ซึ่งเขาเองที่เป็นคนบอกให้เธอไม่ต้องใส่ใจ นี่อาจเป็นเหมือนบาดแผลเล็กๆ ที่ทำให้ Ryan อยากจะแก้ไขบางอย่าง เขาจึงเลือกที่จะทำในสิ่งตรงข้ามกับที่เขาเคยทำมาตลอด ซึ่งเหมือนเป็นการเริ่มต้นให้โอกาสตัวเองในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่รู้จักให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตที่ไม่ได้มองเห็นตัวเองแต่เพียงผู้เดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น