วันพุธ, สิงหาคม 11, 2553

MOTHER............[A]


นับว่าเป็นผู้กำกับที่ฝีมือเชื่อถือได้อีกคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์เกาหลี หรือกระทั่งระดับโลก สำหรับเจ้าของผลงาน The Host (2006) หนังสัตว์ประหลาดเสียดสีการเมือง ที่น่าจะเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด โดยก่อนหน้านั้น ยังมีอีก 2 เรื่อง ที่ใครๆ ก็ชื่นชม แต่โดยส่วนตัวยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ด้วยตนเองอย่าง Barking Dogs Never Bite (2000) และ Memories of Murder (2003) มาถึงงานกำกับชิ้นล่าสุดนี้ ก็ยังคงได้รับเสียงตอบรับในแง่ชื่นชม ด้วยการเป็นตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้ ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ถึงแม้จะไปไม่ถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย แต่หนังก็ได้เข้าชิงในเวทีของ Independent Spirit Awards ในสาขาเดียวกัน เคียงข้างหนังดังอย่าง An Education และ A Prophet เป็นการชดเชย

เรื่องราวของแม่ (Kim Hye-ja) วัยกลางคนที่ทำงานเป็นหมอที่รักษาโรคด้วยสมุนไพรนานาชนิด รวมถึงการฝังเข็มแบบโบราณ เพื่อเลี้ยงตนเองและ Yoon Do-joon (Won Bin) ลูกชายวัยหนุ่มที่มีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าคนปกติ เพื่อนคนเดียวของเขาคือ Jin Tae (Jin Ku) หนุ่มเสเพลที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ซึ่งจนแล้วจนรอด เรื่องที่เธอห่วงว่าจะเกิดขึ้นก็เริ่มส่อเค้า เมื่อ Jin Tae พา Yoon Do-joon ไปเอาคืนพวกคนรวยที่ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหนี กระทั่งเรื่องถึงโรงพัก แต่ด้วยความที่ฝ่ายเจ้าทุกข์กลัวจะเสียชื่อเสียง ประกอบกับ Jin Tae และ Yoon Do-joon สนิทสนมกับตำรวจเป็นอย่างดี เรื่องจึงยอมความกันได้ แต่แล้วจู่ๆ ก็มีคนพบศพ Moon Ah-jung (Na Mun-he) นักเรียนสาว ที่ถูกฆาตกรรมแล้วพาดศพไว้บนดาดฟ้า หลังจากคืนที่ Yoon Do-joon ไปเที่ยวกลางคืนกลับมาดึกดื่น เพราะอยากลบคำสบประมาทของ Jin Tae ว่าตนสามารถหลับนอนกับผู้หญิงได้เช่นกัน ด้วยหลักฐานบางอย่างในที่เกิดเหตุ ทำให้ตำรวจเชื่อมั่นว่า Yoon Do-joon เป็นฆาตกร และโดยไม่ลังเล เขาจึงถูกจับ ร้อนถึงแม่ ที่เชื่อมั่นว่าลูกชายตนเองไม่ได้เป็นคนทำ รวมทั้งคำให้การที่แกว่งไปมาของ Yoon Do-joon เองเพราะอาการที่เป็น, การวางเฉยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทนายความที่เธออุตส่าห์เก็บเงินไปจ้างมา ทำให้แม่ต้องเป็นคนตามสืบเรื่องราวด้วยตนเองทั้งหมด โดยได้คำแนะนำจาก Jin Tae ที่เธอเคยสงสัยเขาเป็นคนแรก ให้ตามหาข้อมูลจากคนรอบข้างผู้ตาย ก่อนจะนำไปสู่ความจริงที่หนังค่อยๆ เฉลย ซึ่งซับซ้อนกว่าที่คิดมากนัก

ถึงแม้หนังจะใช้ชื่อเรื่องที่แปลกันตรงๆ ว่า แม่” แต่นี่ไม่ใช่หนังรักหวานซึ้งระหว่างแม่-ลูก ที่มาในแนวดราม่าบีบน้ำตาทั่วๆ ไป ทว่าหนังใช้ประเด็นนี้เป็นแกนเรื่องหลัก ท่ามกลางเนื้อหาในแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งถูกคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ผ่านบทภาพยนตร์ที่ซับซ้อน และหลอกล่อคนดูให้สับสนอยู่ตลอดเวลา จนยากแก่การคาดเดาบทสรุป กระทั่งเมื่อหนังเฉลยข้อมูลที่เป็นปมปริศนาเกี่ยวกับตัวฆาตกรแล้วก็ตาม เราก็อาจยังไม่สามารถปักใจเชื่อได้แน่นอนนัก แต่หากเป็นดังนั้นจริง หนังก็ยังเลือกที่จะกระแทกใส่คนดูอีกต่อหนึ่ง ด้วยชะตากรรมของตัวละครที่ทั้งน่าเห็นใจ และเสียดสีสังคมไปพร้อมๆ กัน

Kim Hye-ja นักแสดงสาวใหญ่ ให้การแสดงระดับสุดยอด และน่าประทับใจเป็นที่สุด ในหนังที่เหมือนเป็นการโชว์ออฟ ของเธอเรื่องนี้ กระนั้น เธอก็ไม่ได้พยายามสร้างความโดดเด่นให้กับตัวละครของเธอจนเกินพอดี แต่สามารถสร้างความกลมกลืนเข้ากับเรื่องราว และบุคคลรอบข้างได้อย่างน่าชื่นชม ขณะที่นักแสดงสมทบคนอื่นๆ ต่างทำหน้าที่เสริมส่งตัวละครของเธอให้ยิ่งน่าเอาใจช่วยไปโดยตลอดอีกด้วย อีกคนที่สมควรได้รับการกล่าวถึง ก็คือ Won Bin ที่รับบทหนุ่มที่มีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าคนปกติ ได้อย่างน่าเชื่อถือ แม้จะไม่ถึงกับโดดเด่น และอาจจะถูกกลบรัศมีจากตัวละครแม่ ของ Kim Hye-ja ไปบ้าง แต่ทั้งคู่นับว่าเข้าคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะ นับเป็นการคืนสู่วงการภาพยนตร์หลังห่างหายไปนานได้อย่างน่าพอใจ

หลังจากดูจบ เชื่อว่าคนดูคงพบเห็นความไม่ธรรมดาของหนังเกี่ยวกับ แม่ ที่แฝงอยู่ในความธรรมดา เรื่องนี้ได้ไม่ยาก ทั้งประเด็นความรักของแม่ ที่ทุ่มเททำได้ทุกอย่างเพื่อลูก ไม่ว่าจะต้องทำอะไรลงไปก็ตาม และประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบ, การประเมินคุณค่าต่อกันและกันของคนในสังคม ที่ไม่ว่าจะเป็นที่แห่งหนตำบลใด ก็ล้วนมีเส้นบางๆ ระหว่างกันขวางกั้นความไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่ตลอดเวลา

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 01, 2553

She's Out Of My League: คน (แบบไหน) ที่คู่ควร


ระยะหลังมานี้ หนังวัยรุ่นวุ่นรัก จะห่างหายไปจากวงการฮอลลีวู๊ดนานพอสมควร ยิ่งที่เกี่ยวกับวัยรุ่นวัยเรียน ยิ่งแล้วใหญ่ การมาของ She’s Out of My League จึงเป็นเหมือนเป็นออเดิร์ฟ หรืออาหารว่าง ของคอหนังแนวนี้ให้ได้คลายความคิดถึงได้บ้าง ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่หนังวัยรักวัยเรียนเสียทีเดียวก็ตาม

เรื่องราวเป็นของ Kirk (Jay Baruchel) หนุ่มหน้าตาธรรมดา แถมรูปร่างยังผอมแห้งแรงน้อยเสียอีก เขาเพิ่งถูก Marnie (Lindsay Sloane) แฟนสาวที่เป็นเด็กซึ่งพ่อแม่ของเขา (Adam LeFevre & Debra JoRupp) รับอุปการะด้วย บอกเลิกและไปคบกับ Ron (Hoyes MacArthur) หนุ่มบึ๊กนิสัยเถื่อนๆ แทน ทำให้ Kirk โศกเศร้าเสียใจเป็นการใหญ่ แม้ว่าเพื่อนๆ ของเขาทั้ง Stainer (T.J. Miller), Jack (Mike Vogel) และ Devon (Nate Torrence) จะบอกว่าดีแล้วที่เขาเลิกกับผู้หญิงที่เหมือนเป็นนางมารร้ายคนนั้นได้เสียที กระทั่งการเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวของ Molly (Alice Eve) สาวสวยที่สุดแสนจะฮอต และเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มทั่วไป ซึ่งจากการได้รู้จักกันโดยบังเอิญเมื่อ Kirk เก็บโทรศัพท์ I-phone ของเธอได้ และนำมาคืน ด้วยความสุภาพ และไม่มีท่าทีจะหลีเธอเลย ทำให้ Molly ตัดสินใจรุกก่อนด้วยการนัดเดท ทั้งไปดูกีฬาฮ๊อกกี้, ดินเนอร์ อันทำให้ไปเจอกัน Cam (Geoff Stults) แฟนเก่าที่เป็นนักบินของเธอ รวมถึงการไปร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวของ Kirk จนทำให้ทุกคนที่เป็นเขาเป็นผู้ชายระดับหางแถว พากันอิจฉากันหมด โดยเฉพาะ Marnie ที่มีทีท่าจะกลับมาขอคืนดีด้วยซะงั้น

หนังเล่นสนุกกับประเด็นความไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตา และคุณสมบัติแย่ๆ ของฝ่ายชาย ตั้งแต่รูปร่างผอม หน้าเห่ย การงานต่ำต้อย ขณะที่ฝ่ายหญิงสาวนั้น กลับดูตรงกันข้ามกับเขาโดยสิ้นเชิง ทว่าดูเหมือนเขาจะมองข้ามส่วนดี ที่เธอมองเห็นในตัวเขา นั่นคือความดีงามในจิตใจ และความสุภาพ อ่อนน้อม ซึ่งแทบหาไม่ได้ในตัวผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเกิดมาสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างเด่นชัดคงจะหนีไม่พ้นแฟนเก่าของ Molly นั่นเอง ซึ่งความคิดแบบนี้ คือส่วนที่กลบข้อดีภายนอก อย่างรูปร่างหน้าตาเสียหมดสิ้น ส่วนตัวของ Kirk อยู่ในกรณีตรงข้าม เพราะคิดเสมอว่าตัวเองรูปลักษณ์ภายนอกไม่ดี จึงเกิดความเจียมตัว การแสดงที่สื่อออกมาจากภายใน จึงเต็มไปด้วยลักษณะที่ผู้หญิง (หรือคนส่วนใหญ่) ต้องการ นั่นคือการวางตัวดี และให้เกียรติคนอื่น เพียงแต่ว่าหากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว นั่นหาใช่สิ่งที่ออกมาจากใจจริงไม่ เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่เขาคิดว่า คนต่ำต้อย (ในทางกายภาพ หรือรูปลักษณ์ภายนอก) อย่างเขา พึงปฏิบัติต่อคนที่เหนือกว่าตน ดังนั้น ในฉากท้ายเรื่อง ที่ตัวละครของ Molly ตีความการแสดงออกของ Kirk ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงมีสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน ว่าเขาต้องการพยายามหาข้อเสียในตัวเธอ เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าเขาคู่ควรเธอขึ้นมาบ้าง จึงไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกินเลย เพราะจะว่าไปแล้ว Kirk เหมือนจะคิดเช่นนั้นจริงๆ เพียงแต่ไม่ใช่ด้วยเจตนาด้านร้าย เขาหวังแค่ให้ตนเองดูมีค่าเพิ่มขึ้นมาอีกนิด (หรือในทางกลับกันคือให้ตัวเองได้รู้สึกว่า คนที่คู่ควรกับเขา ก็มี “ตำหนิ” อยู่บ้าง) ซึ่งในทัศนคติของเขาแล้ว นั่นคือลักษณ์ของคนที่ “คู่ควร” กันควรจะเป็น และจากจุดนี้เอง ที่เหมือนหนังจะทำผิดพลาดในประเด็นหลักที่ต้องการจะสื่อ เพราะหากหนังต้องการจะบอกเล่าถึงความเหมาะสม และคู่ควรกันของคนที่มีความแตกต่างกันในด้านรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว บทสรุปในส่วนความคิดของตัวละครหลักฝ่ายชายอย่างที่ว่ามา ควรถูกล้มล้างด้วยเหตุผลที่ดีกว่า นั่นคือ ความเหมาะสมซึ่งมาจากปัจจัยภายใน อันหมายถึงจิตใจที่งดงามต่างหาก แต่ที่เห็นในหนัง กลับเลือกที่จะไปเปิดเผยความลับของตัว Molly ที่ยิ่งเป็นการตอกย้ำความคิดที่ Kirk คิดในทีแรกว่าเป็นสิ่งถูกต้อง และนั่นทำให้ประเด็นของความดีงามจากภายในจิตใจ ถูกลดทอนความสำคัญไปจากเรื่องราวอย่างน่าเสียดาย

วันเสาร์, มิถุนายน 05, 2553

WAITING IN THE DARK: สายสัมพันธ์ในความมืดมิด

ผลงานจากผู้กำกับ ที่เคยเขียนบทให้หนังแนวสยองขวัญ ในตระกูลสับๆ ทั้งหลายอย่าง Audition (1999) ที่เคยได้รับคำชมมาแล้ว แต่เมื่อมากำกับเอง เขากลับดูจะถนัดแนวหนังดราม่า เสียมากกว่า รวมทั้งผลงานกำกับลำดับที่ 4 เรื่องนี้ของเขาในปี 2006 ก็เช่นเดียวกัน

หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วนย่อยๆ ที่อันที่จริงคือเรื่องเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่ในส่วนแรกจะเล่าถึงเรื่องราวที่มีตัวละครอย่าง Michiru Honma (Rena Tanaka) เป็นศูนย์กลาง เธอเป็นหญิงสาวตาบอด ที่ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ (Ittoku Kishibe) ก่อนพ่อจะเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน จนต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในบ้านใกล้สถานีรถไฟที่พ่อทิ้งไว้ให้ และเหลือเพียง Kazue (Mao Miyaji) เพื่อนที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่ชั้นประถมเพียงคนเดียวที่แวะเวียนมาเยี่ยมและพาไปซื้อของอย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่สองเป็นชีวิตของ Akihiro Oishi (Bo-lin Chen) หนุ่มลูกครึ่งจีน-ญี่ปุ่น ที่มาใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังที่นี่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีความสุขนัก เนื่องจากเขามักจะมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้าง นั่นรวมถึงเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ชอบเขานัก ทั้งยังชอบเอารัดเอาเปรียบเขาในทุกวิถีทาง โดยเฉพาะ Toshio Matsunaga (Koichi Sato) หนุ่มจอมเจ้าชู้และเป็นหัวโจกของกลุ่ม ทำให้วันหนึ่งเมื่อ Toshio ถูกผลักตกรถไฟที่สถานีใกล้บ้านของ Michiru เขาจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัย และถูกตำรวจตามล่าตัว จนต้องหนีมาหลบอยู่ในบ้านของ Michiru เงียบๆ

ส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย หนังโฟกัสไปที่เรื่องราวของตัวละครหลักทั้ง 2 ที่มาบรรจบกันในบ้านของ Michiru และค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างช้าๆ ท่ามกลางความเงียบงันในบ้าน ทว่าบางอย่างกำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้น พร้อมๆ กับความจริงเกี่ยวกับตัวฆาตกรตัวจริง ที่กำลังจะถูกเปิดเผย เมื่ออีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่าง Harumi Mishima (Haruka Igawa) เพื่อนบ้านสาวที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารอิตาเลี่ยนเข้ามาผูกมิตร หลังจากอ้างว่าเก็บผ้าที่ปลิวไปจากราวของ Michiru ได้มาคืนให้

ต้องยอมรับว่าผู้กำกับและเขียนบท Daisuke Tengan พัฒนาเรื่องราวที่ดูเหมือนเรียบง่าย ออกมาได้อย่างชาญฉลาด ตั้งแต่บทภาพยนตร์ที่ถูกผูกโยง และเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ไปจนถึงการกำกับที่แม้บรรยากาศจะออกมาแบบเรียบเรื่อย ชวนให้คนดูง่วงเหงาหาวนอนได้ง่าย ทว่าไม่มีช่วงไหนเลย ที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายถึงขั้นนั้นได้ ตรงกันข้าม หนังพาคนดูให้ติดตามเรื่องราวไปได้จนจบอย่างกระตือรือร้น ผ่านความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครหลักที่เหมือนจะไม่มีอะไรมากมาย (กว่าทั้ง 2 จะได้เริ่มบทสนทนาแรกกันอย่างเป็นทางการ ก็ปาเข้าไปนาทีที่ 90 กว่าเข้าไปแล้ว) แต่คนดูสามารถรับรู้ได้ถึงความผูกพันที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน โดยไม่ต้องใช้กิริยาอาการใดๆ มากไปกว่าสายตา และความรู้สึก

อาจเป็นเพราะตัวละครทั้ง 2 มีหลายอย่างคล้ายกัน และเมื่อได้มาอยู่ร่วมกัน ต่างก็เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะเจาะ ฟังดูอาจเป็นหนังรักแบบพรหมลิขิตไปสักหน่อย แต่แทบไม่มีช่วงไหนเลยที่หนังพยายามขีดเส้นกำหนดชะตาชีวิตของทั้งคู่ไปในทางนั้น ตรงกันข้าม เมื่อคนสองคนที่เป็นคู่กัน ได้พบเจอและเรียนรู้กันและกันแล้ว เมื่อนั้นเองที่ความสัมพันธ์จะสามารถงอกงาม และผลิบานอย่างเต็มที่อย่างที่มันควรจะเป็น

INVICTUS: การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการ "ให้อภัย" และใช้กีฬา เป็นยาประสานสาัมัคคี


นับเป็นโครงการในฝันเรื่องหนึ่ง ของผู้กำกับ Clint Eastwood ที่จะนำหนังสือเรื่อง Playing the Enemy ของ John Carlin ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงของประธานาธิบดี Nelson Mandela อีกต่อหนึ่ง และชื่อเดิมในการนำมาขึ้นจอก็คือ The Human Factor ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Invictus (ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า “ทรหด” หรือ “ไม่ถูกเอาชนะ”) ก่อนนำออกฉายจริงในเวลาต่อมา

หนังเปิดเรื่องในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 ที่มีการปล่อยตัว Nelson Mandela (Morgan Freeman) หนึ่งในแกนนำที่ผู้ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว โดยรัฐบาลผิวขาวของพรรค National Party ที่ปฏิบัติงานในรัฐสภามายาวนานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ซึ่งสมัยนั้นชาวแอฟริกันผิวดำถูกเอารัดเอาเปรียบ แบ่งแยก และจำกัดสิทธิมากมาย กระทั่งเมื่อรัฐบาลยินยอมมอบสิทธิในการเลือกตั้งให้แก่ชาวผิวดำ และ Mandela ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาจึงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อวัตถุประสงค์หลักที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก คือการรวมชาติ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ตรงคนสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันอย่างมาก คือฝ่ายผิวดำที่โกรธแค้นชาวผิวขาวกับสิ่งที่เป็นมายาวนานก่อนหน้านี้ ถึงขนาดเชียร์ชาติอื่นทุกชาติที่แข่งกับประเทศตนในกีฬารักบี้ ซึ่งมีทีม Springbok ทีมประจำชาติที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว และมีเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นคนผิวดำอยู่ในทีม ส่วนชาวผิวขาวก็มีอาการหวาดระแวงว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นชาวผิวดำแล้วจะถูกแก้แค้นกับสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาก่อน แต่ Mandela ก็เปลี่ยนความคิดของคนทั้งสองฝ่าย เริ่มด้วยการขอให้คณะทำงานในสำนักงานของประธานาธิบดีทีมเดิมซึ่งเป็นคนผิวขาว อยู่ปฏิบัติงานต่อ การให้ทีมผู้รักษาความปลอดภัยผิวดำของตนปฎิบัติหน้าที่ร่วมกับทีมรักษาความปลอดภัยผิวขาว ไปจนถึงการนำกีฬารักบี้ มาเป็นจุดศูนย์กลาง โดยเขาขอให้ชนผิวดำหยุดการล้มล้างทีมเดิม และจะอาศัยทีม Springbok มาเป็นตัวเชื่อมโยงความแตกแยกของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้ความร่วมมือจาก Francois Pienaar (Matt Damon) กัปตันทีมที่เป็นชนผิวขาว ให้ออกทัวร์กับเด็กๆ ผิวดำในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนจะฝึกซ้อมเพื่อพาทีมไปสู่ชัยชนะในการแข่งขัน Rugby World Cup ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี 1995 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยนักของคนรอบข้าง ทั้งเลขา, หัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัย, ประชาชนผิวขาวทั่วไป รวมถึงครอบครัวของ Francois Pienaar และกระทั่งลูกสาวของเขาเองก็เช่นกัน ทว่าคนเหล่านั้นล้วนคิดผิด...และทั้งหมดสามารถรับรู้ได้ถึงความสำเร็จในการสร้างความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่นของคนในชาติได้ จากการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ เมื่อแอฟริกาใต้ สามารถเอาชนะคู่แข่งจากประเทศนิวซีแลนด์ได้ในช่วงเวลาต่อเวลาพิเศษไปอย่างเฉียดฉิว ซึ่งเป็นดั่งคำให้สัมภาษณ์ของ Francois หลังแข่งเสร็จที่ว่า “ผมไม่ได้รับเสียงเชียร์จากคน 60,000 คนในสนาม แต่ได้รับเสียงเชียร์จากคน 43 ล้านคนในประเทศนี้” ก่อนเขาจะก้าวขึ้นรับถ้วยรางวัลจากปธน.Mandela ท่ามกลางเสียงเชียร์รอบสนามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกสีผิว

ต้องยอมรับว่า ผู้กำกับ Clint Eastwood ยังคงรักษาระดับมาตรฐานการกำกับไว้ได้อย่างดี แม้ช่วงครึ่งชั่วโมงแรก อาจจะดูเรียบเฉื่อยไปนิด แต่ก็เป็นไปตามสไตล์งานเดิมๆ ของเขา ช่วงหลังจากนั้นเสียอีก ที่ถึงจะดูน่าติดตาม และสนุกไปได้จนจบ แต่หนังกลับดูแตกต่างไปจากสไตล์ถนัดของเขาไม่น้อย ทั้งงานดนตรีที่ยังมีเพลงประกอบในจังหวะคึกคักเข้ามาบ้างประปราย และการเล่าเรื่องที่ชวนให้ขวัญกำลังใจ (ซึ่งล้วนตรงข้ามกับผลงานในระยะหลังๆ ของเขาทั้งสิ้น ตั้งแต่ Mystic River, Million Dollar Baby, Flags of Our Fathers, Letter of Iwo Jima, Changeling มาจนถึง Gran Torino งานชิ้นก่อนหน้านี้) ทว่า นั่นก็ไม่ใช่ส่วนที่เขาทำได้ไม่ดี ตรงกันข้าม เขากลับสามารถพาเรื่องราวไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ทั้งยังเป็นไปในแบบน่าติดตาม และดึงอารมณ์ร่วมจากคนดูได้เป็นอย่างดีเสียด้วย โดยเฉพาะในฉากท้ายเรื่อง ที่การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ และบทสนทนาเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ต่อจากนั้นของ 2 ตัวละครสำคัญ ช่วยฉุดอารมณ์คนดูให้รู้สึกฮึกเหิม ทั้งยังให้กำลังใจในการใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี

หนังยังต้องขอบคุณการแสดงอีกบทบาทหนึ่งที่น่าชื่นชมของ Morgan Freeman ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ระดับมาสเตอร์พีช แต่ก็นับว่าทำหน้าที่ในการสวมบทบาทเป็นตัวละครที่มีัตัวตนอยู่จริงได้อย่างจับต้องได้ แม้จะขาดแง่มุมอีกด้านหนึ่งไปสักนิด (เพราะบทหนังดูจะตั้งใจ "อวย" ปธน.Nelson Mandela อยู่ในที) จนตัวละครแทบจะดูเป็นพ่อพระก็ตามที ส่วนงานด้านโปรดักชั่นต่างๆ ล้วนอยู่ในระดับมาตรฐาน เพียงแต่ไม่มีอะไรโดดเด่นเพียงพอให้พูดถึงหรือน่าจดจำเป็นพิเศษ นอกเสียจากเพลงประกอบท้ายเรื่องอย่างเพลง Colorblind ของ Overtone ที่นอกจากจะไพเราะแล้ว เนื้อหายังสะท้อนแง่มุมหนึ่งของตัวหนังได้เป็นอย่างดี

วันเสาร์, พฤษภาคม 22, 2553

…ING: ขอแค่มีเธออยู่ใน "ความทรงจำ"


หนังรักจากเกาหลีอีกเรื่อง ที่ได้ยินกิตติศัพท์มาว่าซาบซึ้ง ชวนประทับใจ จึงตั้งความหวังเอาไว้ค่อนข้างมาก และแม้จะไม่ถึงกับผิดหวัง แต่ก็นับว่าหนังไปได้ไม่ถึงอย่างที่คาดไว้

Gang Min-Ah (Lim Su-Jeong) เด็กสาวมัธยมปลายที่เพิ่งย้ายมาอยู่โรงเรียนใหม่ไม่นาน ทำให้ยังไม่มีเพื่อนสนิท เธออาศัยอยู่กับ Mi-Suk (Lee Mi-Suk) แม่ที่ทำเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดี และเป็นทุกอย่างให้เธอแม้แต่การให้เธอเรียกชื่อแทนคำว่าแม่ เหมือนเพื่อนทั่วๆ ไป เพราะทั้งสองต่างมีกันและกันเท่านั้น หลังจากต้องสูญเสียพ่อ/สามี ไป Min-Ah ชื่นชอบการเต้นบัลเลต์ และแอบเก็บความฝันที่จะได้ดูการแสดงของคณะบัลเลต์ชื่อดังในยุโรปไว้ แต่นั่นก็ไม่พ้นสายตาของผู้เป็นแม่ ที่ยินดีที่จะพาเธอไปทันทีที่มีโอกาส เพราะรู้ดีว่าลูกสาวจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว

ไม่นาน Yeong-Jae (Kim Rae-Won) ช่างภาพหนุ่มก็ก้าวเข้ามาในชีวิต เมื่อเขาย้ายมาอยู่อพาร์ทเม้นท์ห้องข้างล่างของสองแม่ลูก Yeong-Jae เริ่มตีสนิทกับ Min-Ah ทั้งที่ดูเหมือนเธอจะไม่ใส่ใจอะไร และเหมือนไม่อยากจะมีความรัก แต่เรื่องเล่าจากเพื่อนในโรงเรียนใหม่ที่เกี่ยวกับชายหนุ่มที่คอยทำหน้าที่โบกรถตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียนก็สร้างความประทับใจ และเป็นเหมือนความคาดหวังที่เธออยากพบเจอความรักในแบบนั้น ซึ่งทีละน้อยที่เธอเริ่มรับรู้ว่า Yeong-Jae คือคนๆนั้น เพียงแต่หลังจากนั้น Min-Ah ก็ได้รับรู้ความลับเกี่ยวกับโรคร้ายที่เธอเป็นอยู่ ซึ่งแม่เก็บเอาไว้คนเดียวโดยบังเอิญ

บทหนังมีการเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกเข้ามาเป็นรายละเอียดปลีกย่อยในหนัง เข้ากับประเด็นหลักที่หนังนำเสนอได้อย่างเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความรักของชายโบกรถบนทางม้าลายหน้าโรงเรียน กับความรักของ Min-Ah กับ Yeong-Jae หรือจะเป็นเต่าน้อยสองตัวที่ Yeong-Jae มอบเป็นของขวัญให้กับ Min-Ah ที่เหมือนเป็นการสะท้อนนัยยะเรื่องการมีชีวิตยืนยาวของเต่า กับชีวิตแสนสั้นของ Min-Ah เป็นต้น

นอกจากนี้ หนังยังให้น้ำหนักของความรักระหว่างแม่-ลูก มากพอๆ กับความรักระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งให้ทั้งผลดีและผลเสียไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือคนดูจะรู้สึกซาบซึ้งกับความรักแบบหลังน้อยลง เพราะหนังแบ่งช่วงเวลาส่วนหนึ่งไปให้ความรักในแบบแรก ซึ่งแน่นอนว่าแลดูยิ่งใหญ่ และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า เมื่อพิจารณาจากการนำเสนอตั้งแต่แรกแล้ว รวมทั้งการแสดงของ Lee Mi-Suk เองก็กินขาดในด้านการเข้าถึงตัวละครแม่ ส่วน Kim Rae-Won กับ Lim Su-Jeong เอง ถึงจะมีเคมีที่เข้ากันได้ดีพอสมควร แต่ดูเหมือนช่วงเวลาที่ตัวละครของทั้งคู่มีร่วมกัน ดูจะน้อยไปนิด การมีอารมณ์ร่วมในตอนท้ายเรื่องจึงออกจะไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว

อย่างไรก็ดี นับว่าหนังมีดีอยู่ในตัว ตามมาตรฐานหนังรักเกาหลีเรื่องหนึ่ง ทั้งงานด้านเทคนิค ตั้งแต่การกำกับภาพ ดนตรีประกอบ ไปจนถึงการแสดง และบทดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และหากไม่คิดอะไรมาก หนังสามารถเรียกน้ำตาจากคนดูที่อ่อนไหวในเรื่องความรักกับการจากลาแบบนี้ได้ไม่ยาก

วันอังคาร, พฤษภาคม 18, 2553

FROST/NIXON: ความพ่ายแพ้ของชายแก่ผู้ทะนงตน


จากเหตุการณ์จริงที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีอันโด่งดัง และประสบความสำเร็จ สู่ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครของตัวเอง โดย Peter Morgan มือเขียนบทที่เคยมีชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก The Queen และกำกับโดย Ron Howard ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind และเมื่อก้าวมาอยู่บนจอเงิน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกัน เมื่อหนังมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 2008 ถึง 5 สาขา ซึ่งล้วนเป็นสาขาหลักทั้งสิ้น ตั้งแต่ ตัดต่อ, บทภาพยนตร์ดัดแปลง, นักแสดงนำชายโดย Frank Langella, ผู้กำกับ และรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

เรื่องราวหลักโฟกัสไปที่เหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของ 2 ตัวละครหลักตามชื่อเรื่อง David Frost (Michael Sheen) พิธีกรรายการทอล์คโชว์ชาวอังกฤษ ที่ต้องการสร้างชื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในวงการทีวีอเมริกัน โดยการพยายามชักจูงให้ Richard Nixon (Frank Langella) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากคดีฉาวอย่างวอเตอร์เกท มาหมาดๆ ฝ่าย Frost ที่มีเพื่อนร่วมทีมวิจัยอย่าง James Reston, Jr. (Sam Rockwell), Bob Zelnick (Oliver Platt) และ John Birt (Matthew Macfadyen) รวมทั้งกำลังใจคนสำคัญอย่าง Caroline Cushing (Rebecca Hall) มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำตัวอดีต ปธน. มาร่วมรายการให้ได้ แม้จะได้รับการปฏิเสธจากเหล่าสปอนเซอร์มากมาย ด้วยไม่คิดว่าพิธีกรรายการทอล์คโชว์เบาสมองอย่างเขา จะสามารถรับมือกับการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญทางการเมืองที่กำลังเป็นที่สนใจทั้งจากสื่อและประชาชนทั่วไปได้ ขณะที่ฝ่าย Nixon ซึ่งมี Jack Brennan (Kevin Bacon) ผู้ช่วยคนสำคัญเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้เปิดปากพูดในสิ่งที่เขาอยากจะให้มีคนฟัง และไม่ต้องเกรงกลัวอิทธพลจากพิธีกรที่แลดูอ่อนหัดอย่าง Frost นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถร้องขอค่าตอบแทนจากการไปออกรายการสัมภาษณ์ครั้งนี้มากกว่าครึ่งล้านดอลล่าร์ แลกกับข้อตกลงที่ไม่น่าจะเป็นพิษภัยต่อการตอบคำถามเกี่ยวกับคดีวอเตอร์เกทที่ Nixon ไม่อยากพูดถึง เพราะในข้อตกลงนั้นระบุว่า จะมีการพูดถึงคดีนี้เพียงแค่ไม่เกิน 15 % เท่านั้น

แต่อย่างที่คงจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ในหมู่ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ หรือผู้ที่เคยดูละครเวทีเรื่องนี้มาก่อน ว่านอกจาก Nixon กับพวกจะคิดผิด จนนำไปสู่การถูกต้อนคำถามจาก Frost จนจำต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่แม้แต่เหล่าอัยการ หรือสื่อต่างๆ ยังไม่สามารถเค้นออกมาจากปากเขาได้มาก่อน ซึ่งหนังสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างน่าิติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และคงต้องยกความดีความชอบให้กับการกำกับชั้นดีของผู้กำกับ ที่สามารถสะกดอารมณ์คนดูให้ติดอยู่กับเรื่องเครียดๆ นี้ได้อย่างเหลือเชื่อ รวมทั้งการแสดงของนักแสดงในเรื่อง ที่ทำหน้าที่ได้อย่างน่าพอใจกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ 2 นักแสดงนำอย่าง Michael Sheen และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Frank Langella เขาสามารถสะท้อนบุคลิกตัวละครของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง Richard Nixon ออกมาได้อย่างถึงแก่น และแทบจะเกินความคาดหมาย เมื่อเขาสามารถทำให้คนดูรู้สึกเห็นอกเห็นใจเขาอย่างแทบไม่น่าเป็นไปได้ แม้ในช่วงสุดท้าย ตัวละครที่เคยแลดูร้ายกาจ และน่ารังเกียจในตอนแรก กลับกลายเป็นเพียงแค่ตาแก่ที่ไร้พิษสงคนหนึ่งเท่านั้น

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 16, 2553

THE LOVELY BONES: ฉันเห็นฆาตกรจากสวรรค์ (ชื่อภาษาไทยจากฉบับนิยายแปล)


นับว่าเป็นงานชิ้นที่น่าผิดหวังมากที่สุดเท่าที่ได้ดูมาเลยก็ว่าได้ สำหรับงานกำกับชิ้นล่าสุดของผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์จากไตรภาค The Lord of the Rings และ King Kong เวอร์ชั่นปี 2005 แม้ว่าในภาพรวม หนังจะไม่ได้ถึงกับย่ำแย่ แต่คงต้องโทษตัวเองด้วย ที่ตั้งความหวังไว้กับหนังเรื่องนี้ไว้ซะสูงลิบลิ่ว และถึงจะรู้อยู่แล้วว่าหนังแทบไม่มีบทบาทใดๆ บนเวทีออสการ์ 2009 ที่ผ่านมา (เข้าชิงเพียงสาขาเดียวคือ สมทบชายยอดเยี่ยม โดย Stanley Tucci) แต่ก็ยังไม่คิดว่าทิศทางของหนังจะออกมาขาดเอกภาพ และไปไม่สุดทางได้ขนาดนี้

หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงเล่าของ Susie Salmon (Saoirse Ronan) เด็กสาววัย 14 ที่พูดถึงชีวิตแสนสุขกับครอบครัวของเธอ ที่ประกอบไปด้วย Jack Salmon (Mark Wahlberg) พ่อที่เป็นนักบัญชี และมีงานอดิเรกคือสร้างโมเดลเรือในขวดแก้ว, Abigail (Rachel Weisz) แม่ และ Lindsey (Rose McIver) กับ Buckley (Christian Thomas Ashdale) น้องสาวและน้องชายตามลำดับ ทุกคนในบ้านต่างสนิทสนมและรักกันดี กระทั่งวันที่เธอถูกฆาตกรรมโดย George Harvey (Stanley Tucci) หนุ่มใหญ่รักสันโดษที่อยู่บ้านหลังสีเขียวใกล้ๆ กัน ตัวเธอเองเมื่อรับรู้ว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นห่วงคนข้างหลัง จึงติดอยู่ในแดนที่ Holly (Nikki Soohoo) เพื่อนใหม่ที่เป็นเหยื่อฆาตกรรมจากฆาตกรคนเดียวกันก่อนหน้าเธอ 2 ปี บอกว่าเป็นแดนกึ่งกลางระหว่างโลก และสวรรค์ Susie เฝ้ามองดูครอบครัวของเธอรับมือกับการสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งพ่อและแม่ของเธอทำได้แตกต่างกันไป ขณะที่แม่ของเธอพยายามทำใจรับ แต่พ่อของเธอกลับพยายามตามหาตัวฆาตกรให้เจอ ทั้งยังให้ Grandma Lynn (Susan Sarandon) ยายของเธอมาอยู่ช่วยดูแลแม่และน้องๆ ของเธอ

หนังเล่าเรื่องราวที่ Susie ต้องเจอในแดนหลังความตาย สลับกับเหตุการณ์ที่คนข้างหลังของเธอต้องเผชิญ โดยไม่ได้โฟกัสไปที่วิธีการรับมือกับการสูญเสียเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมุ่งไปยังประเด็นการตามหาตัวฆาตกร ซึ่งนำไปสู่การเล่าเรื่องในรูปแบบตื่นเต้นระทึกขวัญปนกันไป มองในแง่หนึ่ง มันช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชม และการเอาใจช่วยตัวละครให้ได้รับการแก้แค้นกับตัวฆาตกรที่คนดูรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งหนังทำได้เยี่ยมมากในฉากหนึ่งที่ตัวละคร Lindsey น้องสาวของ Susie บุกเดี่ยวเข้าไปหาหลักฐานในบ้านของฆาตกร แต่ทว่าเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น ดูเหมือนจะทำให้ฉากที่ตื่นเต้น และทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งของเรื่องแทบจะกลายเป็นของไร้ค่า และนำพาให้ความเข้มข้นของเรื่องจมดิ่งลง เมื่อหนังเลือกที่จะหันกลับไปหาแนวทางดราม่าซาบซึ้งสะเทือนใจอีกครั้ง พร้อมกับการกลับมาบ้านของตัวละครอย่างแม่ของเธอ

ส่วนที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งก็คือการแสดง ที่ถึงแม้จะได้ทีมนักแสดงระดับรางวัลออสการ์ หรือเข้าชิงมาร่วมงานกันถึง 4 คน แต่กลับไม่มีคนไหนทำหน้าที่ได้อย่างควรจะเป็นเลย อาจยกเว้นเพียง Saoirse Ronan และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stanley Tucci (ที่ยังไม่เคยเฉียดเวทีออสการ์เลย กระทั่งการได้เข้าชิงครั้งแรกจากบทบาทในเรื่องนี้นี่เอง)

อย่างไรก็ตาม หนังยังคงเลือกจบ และสรุปเรื่องราวด้วยบทเรียนดีๆ ที่อาจดูเป็นการยัดเยียด และจงใจสั่งสอนมากเกินไป แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว หนังก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะงานด้านเทคนิค ที่ยังคงน่าตื่นตาเช่นงานกำกับภาพ เป็นต้น แต่ดนตรีประกอบอาจน่าจดจำเฉพาะบาง Theme แต่นั่นก็ยังดีที่พอจะมีอะไรให้น่าพูดถึงได้บ้าง

AN EDUCATION: มหา'ลัยชีวิต!!


Sometimes an education isn’t by the book.

คือคำโปรยสวยๆ บนใบปิดหนังเรื่องนี้ และ An Education ก็ไม่ได้มีดีเพียงแค่คำโปรยเท่านั้น หนังยังยอดเยี่ยมไล่เรียงมาตั้งแต่ บทภาพยนตร์, การกำกับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงของเหล่านักแสดงแทบทุกคนในเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าที่ต้องนับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอย่างแท้จริงอย่างสาวน้อย Carey Mulligan ที่น่าจะเป็นคนที่คู่ควรมากกว่าใคร ในการเป็นเจ้าของออสการ์นำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2009 ไปครอง

เรื่องราวเล่าถึงชีวิต Jenny (Carey Mulligan) เด็กสาวไฮสคูล วัยย่าง 17 ที่ทั้งฉลาด และหน้าตาน่ารัก เพียงแต่อาจจะถูกกดดันอยู่บ้าง จาก Jack (Alfred Molina) พ่อผู้เข้มงวด และฝากความหวังไว้กับลูกสาวเต็มที่ ในการจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

ทว่าวันหนึ่งเมื่อ David (Peter Sarsgaard) ก้าวเข้ามาในชีวิตของ Jenny ความสุภาพของเขาสามารพซื้อความไว้เนื้อเชื่อใจจาก Jack และ Marjorie (Cara Seymour) แม่ของ Jenny ได้อย่างอยู่หมัด จนเขาสามารถพาเธอไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ซึ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความใฝ่ฝันของเธอทั้งสิ้น ได้แก่การเสพงานศิลปะของฝรั่งเศสที่เธอหลงใหล ทั้งหนัง ดนตรี และแม้แต่การได้เดินทางไปใช้ชีวิตที่ปารีส จนความคิดที่จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยของเธอแทบจะเป็นอะไรที่เธอไม่ใส่ใจอีกต่อไป แม้จะเริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตของ David กับเพื่อนอีก 2 คนของเขาอย่าง Danny (Dominic Cooper) และ Helen (Rosamund Pike) จะมีอะไรแปลกๆ อยู่บ้างก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจเธอให้โอนอ่อนผ่อนตามคำทัดทานของอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอย่าง Mrs. Stubbs (Olivia Williams) และครูใหญ่ (Emma Thompson) ได้ กระทั่ง David เองที่เป็นคนมอบบทเรียนสำคัญให้ชีวิตเธอ

ฉากโดดเด่นที่สุด 2 ฉาก น่าจะเป็นการประทะกันทางคารมและความคิดของเด็กสาวอย่าง Jenny กับอาจารย์สาวทั้ง 2 คนที่ว่ามาในช่วงกลางเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเปิดโอกาสให้ Carey Mulligan ได้แสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และน่าจะเป็นส่วนสำคัญให้เธอคว้ารางวัลยอดเยี่ยมประจำปี จากเวทีนักวิจารณ์ได้มากพอๆ กับ Meryl Streep จาก Julie & Julia เลยทีเดียว ทั้งนี้เธอยังฉายเสน่ห์อย่างเจิดจรัสยากหาใครทัดเทียม สมกับที่ถูกบรรดานักวิจารณ์ยกย่องให้เป็นเหมือน Audrey Hepburn คนใหม่

นักแสดงสมทบคนอื่นๆ ก็น่าชื่นชมไม่แพ้กัน ไล่ตั้งแต่ Alfred Molina ในบทพ่อ, Emma Thompson ในบทครูใหญ่ ที่ค่อนข้างใจแคบ เมื่อดูจากบทสรุปตอนท้ายๆ เรื่อง รวมถึง Peter Sarsgaard ในบท David ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว และ Sally Hawkins ผู้สวมบทภรรยาของเขา ซึ่งแม้จะปรากฎตัวเพียงแค่ฉากเดียว และเป็นเวลาแค่ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ แต่ก็นับว่าส่งผลต่ออารมณ์ของเรื่องราว และช่วงเสริมอารมณ์ทางการแสดงของ Carey Mulligan ได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

บทภาพยนตร์ของ Nick Hornby ก็นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชม เขาสามาารถวางเรื่องราวได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่น่าเชื่อถือ กับพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวในแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วยให้หนังดูน่าติดตาม และน่าเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างหมดใจ นอกจากนี้ หนังยังสอนชีวิตเรื่องการเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืนและคมคาย โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยี่ยดสารถสำคัญดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย นับเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่น่าชื่นชมทั้งในแง่เจตนาและความตั้งใจอย่างไม่ต้องสงสัย

THE BLIND SIDE: ...ด้านที่มืดบอดของการแสดงอันยอดเยี่ยม?!?!? หรอ...


หากไม่บอกว่านี่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริง คงต้องบอกว่านี่อาจสร้างมาจากเทพนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Cinderella อย่างเห็นได้ชัด และถ้าเป็นเรื่องแต่ง บอกได้เลยว่าหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ล้วนแลดูน่าหัวเราะ และค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว

และไม่ต้องแปลกใจหากคุณจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะนั่นคือสิ่งที่หนังเป็นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง คือการเล่าเรื่องตามสูตรสำเร็จตายตัว และที่สำคัญ การแสดงระดับคว้าออสการ์มาครองได้หมาดๆ ของ Sandra Bullock จากเรื่องนี้ ต้องยกให้เป็นหนึ่งในความอัปยศที่สุดของประวัติศาสตร์รางวัลนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

Sandra Bullock รับบทเป็น Leigh Anne Tuohy อเมริกันผิวขาวฐานะค่อนไปทางร่ำรวยที่มีครอบครัวสมบูรณ์แบบ ทั้ง Sean (Tim McGraw) สามีแสนดี และ S.J. (Jae Head) กับ Collins (Lily Collins) ลูกชายกับลูกสาวนิสัยน่ารัก ทั้งหมดล้วนเป็นคนจิตใจงดงามเหมือนเธอ ดังนั้นการที่ Leigh Anne ตัดสินใจพาเด็กหนุ่มแปลกหน้า แถมยังเป็นคนผิวสีอย่าง Michael Oher (Quinton Aaron) ที่ไม่เคยรู้จักมักจี่มาก่อนให้มานอนค้างคืนที่บ้าน เพียงเพราะเขาบอกว่าไม่มีที่ไป จึงไม่ใช่ปัญหา และแม้จะมีความรู้สึกกังวลใจอยู่บ้างในคืนแรก แต่ทั้งหมดนั้นก็หายไปทันที ที่ตื่นเช้ามาแล้วพบว่าเด็กหนุ่มผิวดำร่างยักษ์คนนั้น ยังคงมีท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัว แถมมีระเบียบวินัยอีกต่างหาก เท่านั้น ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ รวมถึงครอบครัวของเธอเอง ก็เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหลักๆ ก็คือ Leigh Anne พยายามผลักดันให้เขาได้พัฒนาความรู้ของเขาด้วยการเรียนหนังสือให้รู้เรื่องมากขึ้น และที่สำคัญคือการสนับสนุนเต็มที่ให้เข้าร่วมเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอล จนโด่งดังเป็นที่ต้องการตัวของมหาวิทยาลัยมากมาย กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นนักกีฬาชื่อดังของอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเปรียบเทียบว่านี่เป็นเหมือน Cinderella Man เสียยิ่งกว่าหนังชื่อเดียวกันนี้เมื่อปี 2005 เสียอีก เพียงแต่บทนางฟ้าของเรื่อง ถูกขับเน้นให้เด่นขึ้นจนเป็นตัวละครหลัก และได้รับรางวัลออสการ์ไปอย่างชวนตะขิดตะขวงใจไปอย่างที่เห็น เพราะถึงแม้จะมองด้วยใจเป็นกลางอย่างถึงที่สุดแล้ว แทบไม่มีแง่มุมไหนเลยที่การแสดงของ Sandra Bullock ในเรื่องนี้จะสามารถเอาชนะการแสดงของเจ้าป้า Meryl Streep ที่เข้าชิงในปีเดียวกันจาก Julie & Julia ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นบทที่มีตัวตนอยู่จริงเช่นกัน และถึงจะเป็นแนวคอมดี้ แต่การแสดงของเจ้าป้า กลับดูมีพลัง และน่าเชื่อถือกว่าอย่างไม่อาจนำมาเทียบได้เสียด้วยซ้ำ นั่นยังไม่นับรวมการแสดงของผู้เข้าชิงรายอื่นอีก ที่ถึงจะยังไม่ได้ดูแบบเต็มๆ แต่แค่ตัวอย่าง ก็ล้วนทำให้คนดูเชื่อในตัวละครเหล่านั้นได้อย่างหมดข้อสงสัยแล้ว

จะว่าไป จะโทษตัว Sandra Bullock คนเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะอันที่จริง บทก็คือหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้การแสดงของเธอสามารถ “เอาออกมา” ได้แค่นี้ และถ้าจะว่ากันตามตรง จะเห็นว่าฝีไม้ลายมือในเรื่องนี้ของเธอนับว่าเหนือกว่าผลงานก่อนหน้านี้ของเธอทุกเรื่องเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ยิ่งพิจารณาว่าถึงระดับคว้ารางวัลออสการ์ (หรือแม้แต่รางวัลจากสถาบันไหนก็ตามมาครอง)

จริงอยู่ที่ตัวหนังโดยรวมพูดถึงกีฬาที่เหมือนเป็นกีฬาประจำชาติของชาวอเมริกัน และส่งเสริมความรักในเพื่อนมนุษย์ โดยปราศจากการแบ่งแยก ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม แต่หนังในแนวทางนี้ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม และไม่เป็นเทพนิยาย ล้วนมีปรากฎให้เห็นมาแล้วมากมาย แม้แต่ Crash ที่คว้าออสการ์หนังยอดเยี่ยมปี 2005 มาครอง นั่นก็ว่าแย่แล้ว (เมื่อเทียบกับหนังที่คู่ควรที่สุดในปีนั้นอย่าง Brokeback Mountain) แต่เมื่อมาเทียบกับ The Blind Side ก็จะเห็นว่า Crash นั่นทิ้งห่างเรื่องนี้ไปแบบไม่เห็นฝุ่น และปราศจากข้อโต้แย้ง นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่หนังเรื่องนี้ไม่สมควรแม้แต่มีชื่อเข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยมอีกหนึ่งสาขา แม้จะเป็นปีที่เปิดโอกาสให้มีผู้เข้าชิงสาขาใหญ่สุดนี้มากถึง 10 เรื่องก็ตาม

SHUTTER ISLAND: Stand Up Thriller by Leonardo DiCaprio


หลังจากโดนเลื่อนฉายมาข้ามปี ตั้งแต่ ต.ค. ปี 2009 จนได้มาฉายจริงในบ้านเรา เมื่อ 6 เม.ย. ที่ผ่านมานี้เอง ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของผู้กำกับออสการ์ Martin Scorsese และนักแสดงคู่บุญคนปัจจุบัน Leonardo DiCaprio ก็ได้โชว์ความยอดเยี่ยมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนดูเสียที

พล็อตเรื่องคร่าวๆ ของเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ Dennis Lehane เจ้าของนิยายดังที่เคยถูกนำมาสร้างเป็นหนังชั้นดีก่อนหน้านี้อย่าง Mystic River (2003) และ Gone Baby Gone (2007) เล่าถึง Teddy Daniels (Leonardo DiCaprio) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามสหรัฐฯ ที่ถูกส่งตัวมายังเกาะชัตเตอร์ (Shutter Island) ที่เป็นชื่อเรื่อง ซึ่งเป็นสถานที่กักกันนักโทษที่มีอาการทางจิต พร้อมด้วยคู่หูคนใหม่ Chuck Aule (Mark Ruffalo) เพื่อสืบเรื่องราวการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของนักโทษหญิงทื่ชื่อ Rachel (Emily Mortimer และ Patricia Clarkson) ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เลย พิจารณาว่านี่เป็นเกาะห่างไกล และมีทางเข้าออกทางเดียวคือท่าเรื่องด้านหน้าเกาะ ทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาอีกด้วย

ทว่าในระหว่างการสอบสวนและขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บนเกาะทั้งหมอที่นำโดย Dr.Cawley (Ben Kingsley) รวมถึงเจ้าที่พัสดี และพยาบาล หรือกระทั่งยาม ทุกคนล้วนให้ความร่วมมือในระดับที่น่าเคลือบแคลงสงสัย จน Teddy กับ Chuck ต้องเดินหน้าหาความจริงกันตามลำพัง โดย Teddy ยังมีปัญหาด้านภาพหลอนของ Doroles (Michelle Williams) ภรรยาที่ตายจากไปด้วยอุบัติเหตุไฟคลอก และการได้พบกับคนไข้รายหนึ่งในวอร์ด C ที่ชื่อ George Noyce (Jackie Earle Haley) ซึ่งทั้งหมดค่อยๆ นำพาให้เขาค้นพบความจริงที่คาดไม่ถึง

ส่วนที่โดดเด่นมากที่สุดในเรื่อง ต้องยกให้กับการแสดงในระดับสุดยอดอีกครั้งของ Leonardo DiCaprio อย่างไม่ต้องสงสัย เขาสามารถสะท้อนบุคลิกของตัวละครที่ติดกับความรุนแรงมาตั้งแต่สมัยเป็นทหารร่วมรบในสงครามนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว มาจนถึงอาการประสาทหลอนเมื่อเป็นไมเกรน และต้องกินยาแอสไพริน กระทั่งการพยายามค้นหาความจริงที่เขาและคนดูต่างพากันเชื่อเขาโดยสนิทใจตั้งแต่แรก และยากมากที่จะเชื่อตามเหตุการณ์ที่พลิกผันในช่วงท้ายเรื่อง ขณะที่นักแสดงสมทบรายอื่น ก็ทำหน้าที่ได้ตามอัตภาพ แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครที่ได้รับบทที่โดดเด่นเทียบเท่าเขาเลยแม้แต่น้อย นั่นทำให้หนังแทบจะกลายเป็นหนังโชว์เดี่ยวด้านการแสดงของ Leo ไปโดยปริยาย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังจะขาดแคลนความสมบูรณ์ในด้านอื่นๆ ไปแต่อย่างใด ตรงกันข้าม งานกำกับของผู้กำกับ Scorsese ยังสามารถควบคุมอารมณ์คนดูได้อย่างอยู่หมัด และหลอกล่อคนดูให้ติดกับกับประเด็นต่างๆ ที่ถูกเล่ามาตั้งแต่ตนได้อย่างชะงัด แม้ระดับความหักมุมของเรื่องอาจยังไม่เท่าเทียมกับ The Sixth Sense และ The Others ก็ตาม โดยเฉพาะงานด้านภาพและโปรดักชั่นดีไซน์ ที่อยู่นะดับมีลุ้นชิงรางวัลปลายปีได้สบายๆ

วันอาทิตย์, มีนาคม 21, 2553

นาคปรก:วิกฤติศรัทธาใน "ผ้าเหลือง"


ในที่สุด งานกำกับชิ้นที่ 2 ของผู้กำกับ ภวัต พนังคศิริ ก็ได้ฤกษ์ออกฉายในประเทศบ้านเกิดเสียที หลังจากงานกำกับชิ้นแรกออกฉายไปตั้งแต่6 ปีก่อน และงานกำกับชิ้นที่ 3 อย่าง “อรหันต์ซัมเมอร์” ได้ออกฉายแซงหน้าไปแล้วถึง 2 ปีเต็ม ขณะที่งานชิ้นนี้ได้ไปเดินสายฉายโชว์ตามเทศกาลหนังต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก และได้รับการตอบรับอย่างน่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เรื่องน่าเสียดายเลย เมื่อมองว่า การได้ฉายช้าไป 3 ปี จากวันที่หนังเสร็จสมบูรณ์ แต่ได้ฉายแบบฉบับเต็ม ไม่ต้องถูกตัด เหมือนอย่างที่ Syndromes and a Century: แสงศตวรรษ ของผู้กำกับ อภิชาตพงษ์ วีระเศรษฐกุล เคยเจอ

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าหนังพูดถึงประเด็นแรงๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเรื่องราวเริ่มจากกลุ่มโจร 3 คน ประกอบด้วย ปอ (สมชาย เข็มกลัด) กับ สิงห์ (เร แมคโดนัลด์) เพื่อนสนิทที่ตัดสินใจปล้นรถขนเงินจำนวน 7 ล้านบาท แต่ต้องหาทางหนีการตามล่าจากตำรวจ จึงได้ให้ ป่าน (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) น้องชายแท้ๆ ของปอ เป็นคนนำเงินดังกล่าวไปซ่อน ก่อนที่ประมาณ 2-3 ปีให้หลัง ที่ทั้ง 3 คนตั้งใจมาเอาเงินดังกล่าวคืน ทว่าบริเวณที่เคยฝังเงินไว้ กลับถูกสร้างโบสถ์ของวัดแห่งหนึ่งทับเอาไว้แล้ว ทางเดียวที่จะขุดเงินจำนวนนั้นขึ้นมาได้ โดยไม่มีคนสงสัย คือการบวชเป็นพระ ซึ่งหลวงตาชื่น (สะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์) พระชราที่ผ่านมาเห็นเข้า จำต้องโกนหัวและให้ผ้าเหลืองแก่ ปอ กับสิงห์ ส่วน ป่าน ที่ไม่ยอมบวช อาศัยอยู่ที่วัดนี้ในฐานะเด็กวัด

หนังเปรียบเปรยตัวละครหลักของเรื่อง กับดอกบัวสี่เหล่าที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ได้อย่างกลมกลืน ขณะเดียวกัน งานด้านภาพก็มีการสื่อด้วยภาพของพระจันทร์หลากหลายรูปแบบในยามค่ำคืน รวมถึงดอกบัวในสระที่ปรากฎอยู่ในหลายฉาก ก็เป็นตัวแทนพัฒนาการของตัวละครในแต่ละช่วงเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไป นอกจากนี้ หนังยังกล้าหาญในการนำเสนอภาพที่อาจมองได้ว่าขัดต่อธรรมเนียมสงฆ์ เช่นกรณีเกี่ยวกับการแตะต้องตัวสตรี ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 กรณีผ่านเจตนาของตัวละครที่แสดงออกมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัด กรณีแรกคือการแตะต้องตัวด้วยเจตนาในแง่กามารมณ์ ผ่านตัวละคร สิงห์ ที่มีความต้องการจะเสพสังวาสกับ น้ำผึ้ง (อินทิรา เจริญปุระ) เมียสาวที่เป็นโสเภณีของตนเองซึ่งเขาได้โทรเรียกให้มาหาจากกรุงเทพฯ และเธอตัดสินใจมาทันทีที่รู้ว่า สิงห์ มีเงินจากการปล้น ส่วนอีกกรณี คือการที่หลวงตาชื่นช่วยเหลือสีกาคนหนึ่งซึ่งโดนงูพิษกัด และป่านที่แตะต้องตัวโยมแม่ (รัชนู บุญชูดวง) ที่ตาบอด ให้มาสัมผัสผ้าเหลืองของลูกที่ได้บวชอย่างถูกต้องแล้ว แน่นอนว่าแม้ทั้ง 2 กรณีจะเหมือนกันที่การกระทำ แต่หากมองจากเจตนาแล้ว เชื่อว่าคนดูสามารถแยกแยะได้อย่างแน่นอน ว่ากรณีไหนที่ผิดธรรมเนียมสงฆ์

จากองค์ประกอบทั้งหมดของหนัง แทบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ หนังได้ทั้งการแสดงที่สมบทบาท และบาดลึกทางความรู้สึกจากนักแสดงแทบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมชาย เข็มกลัด, เร แมคโดนัลด์, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, สะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์ และหญิงสาวหนึ่งเดียว อินทิรา เจริญปุระ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ คงกอดคอกันเข้าชิงรางวัลช่วงต้นปีหน้ากันอย่างพร้อมเพรียง ติดอยู่เพียงว่า 3 คนแรก อาจต้องชิงกันเองในสาขานักแสดงนำ และอาจต้องมีคนใดคนหนึ่งต้องพลาดไป หากปีนี้มีคู่แข่งในสาขานำชายเข้มข้น นอกจากนี้หนังยังมีบทภาพยนตร์ที่เข้มข้น และเล่าเรื่องได้อย่างสมจริง น่าเชื่อถือ การตัดต่อที่สอดประสานไปด้วยกันตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ และการถ่ายภาพที่เน้นสไตล์แบบหนังฟิล์มนัวร์ ซึ่งเข้ากับประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ และความมืดหม่นในจิตใจตัวละครเป็นอย่างดี

ตอนจบของหนัง ยังมีการหักมุมที่ค่อนข้างน่าพึงพอใจอีกด้วย เสียก็แต่การขึ้นข้อความในตอนช่วง End Credit ที่อาจลดทอนพลังของหนังลงไปบ้าง หากเท่าที่ทราบมานั่นไม่ใช่เป็นเจตนาของผู้สร้าง ทว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้ผ่านเซ็นเซอร์เท่านั้น

วันอาทิตย์, มีนาคม 07, 2553

The 6th SPIDEY THAI FILM AWARDS WINNERS: 2009


ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Best Film

ผู้กำกับยอดเยี่ยม: Best Director

  • ก้องเกียรติ โขมศิริ (เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก)
  • ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ & มานิต ศรีวานิชภูมิ & สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ (พลเมืองจูหลิง: Citizen Juling)
  • นัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล (ณ ขณะรัก: A Moment in June)
  • เป็นเอก รัตนเรือง (นางไม้)
  • สมเกียรติ วิทุรานิช (รักที่รอคอย: October Sonata)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม: Best Actor in a Leading Role

  • ชาคริต แย้มนาม (ณ ขณะรัก: A Moment in June)
  • ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ (รักที่รอคอย: October Sonata)
  • นพชัย ชัยนาม (นางไม้)
  • ปรเมศร์ น้อยอ่ำ (สามชุก ขอเพียงโอกาสอีกสักครั้ง)
  • อารักษ์ อมรศุภศิริ (เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: Best Actress in a Leading Role

  • ชุติมา ทีปะนาถ (หนีตามกาลิเลโอ)
  • รัชวิน วงศ์วิริยะ (รักที่รอคอย: October Sonata)
  • วนิดา เติมธนาภรณ์ (นางไม้)
  • ศิริน หอวัง (รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ)
  • สินิทธา บุญยศักดิ์ (ณ ขณะรัก: A Moment in June)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม: Best Actor in a Supporting Role

  • จิรายุ ละอองมณี (ห้าแพร่ง)
  • พิษณุ นิ่มสกุล (รักที่รอคอย: October Sonata)
  • สะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์ (ความสุขของกะทิ)
  • สุเชาว์ พงษ์วิไล (ณ ขณะรัก: A Moment in June)
  • อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ (เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม: Best Actress in a Supporting Role

  • จรินทร์พร จุนเกียรติ (หนีตามกาลิเลโอ)
  • เจสสิก้า ภาสะพันธุ์ (เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก)
  • เดือนเต็ม สาลิตุลย์ (ณ ขณะรัก: A Moment in June)
  • มาช่า วัฒนพานิช (ห้าแพร่ง)
  • ศันสนีย์ วัฒนานุกูล (ความจำสั้น แต่รักฉันยาว)

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Best Screenplay

  • ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
  • เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก
  • ณ ขณะรัก: A Moment in June
  • รักที่รอคอย: October Sonata
  • อนุบาลเด็กโข่ง

กำกับภาพยอดเยี่ยม: Best Cinematography

  • ความสุขของกะทิ
  • เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก
  • ณ ขณะรัก: A Moment in June
  • นางไม้
  • รักที่รอคอย: October Sonata

ลำดับภาพยอดเยี่ยม: Best Film Editing

  • เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก
  • ณ ขณะรัก: A Moment in June
  • ท้าชน
  • พลเมืองจูหลิง: Citizen Juling
  • รักที่รอคอย: October Sonata

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม: Best Art Direction

  • ความสุขของกะทิ
  • เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก
  • ณ ขณะรัก: A Moment in June
  • นางไม้
  • รักที่รอคอย: October Sonata

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม: Best Original Score

  • ก้านกล้วย ๒
  • ความสุขของกะทิ
  • เฉือน: ฆาตกรรมรำลึก
  • ณ ขณะรัก: A Moment in June
  • รักที่รอคอย: October Sonata

เพลงประกอบยอดเยี่ยม: Best Original Song